เริ่มวันแรก ใช้ “Rapid Antigen Test” ลุยตรวจโควิดวันละ 1.2 หมื่นคน



  • เจอติดเชื้อให้รักษาที่บ้าน-ชุมชน
  • ติดตามประเมินอาการวันละ 2 ครั้งทุกวัน

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีประชาชนที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิดจำนวนมาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมอบให้ สปสช.ประสานกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกกระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป

โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000-12,000 คน เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการ 1-2 สัปดาห์ การตรวจหาเชื้อดังกล่าวจะใช้ชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสก์( Rapid Antigen Test) ขึ้นทะเบียนใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) จะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที จะเริ่มเวลา 8.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ใน 3 จุด คือ 1.สนามกีฬาธูปะเตมีย์ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 2.สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก กทม.

ทั้ง 2 แห่ง ทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจ ตั้งเป้าจุดละ 3,000 รายต่อวัน และ 3.ลานจอดรถชั้น 5 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจ โดยวันแรกจะทดลองระบบวันละ 500 รายก่อนจะเพิ่มเป็นวันละ 3,000 ราย และในวันที่ 14 กรกฎาคม จะเพิ่มอีก 1 จุด 3,000 รายต่อวันคือที่สนามฟุตบอลกองพล ปตอ. เกียกกาย เขตดุสิต กทม. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจ

นพ.จเด็จกล่าวว่า หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเตียงในโรงพยาบาลพื้นที่กทม. ใช้งานจนเต็มแล้ว ที่ผ่านมาสายด่วนสปสช. 1330 ช่วยประสานงานหาเตียงแก่ผู้ที่ติดเชื้อโควิด แต่ยังไม่มีเตียงรองรับ มีผู้ติดเชื้อที่ตกค้างยังไม่ได้เตียงกว่า 2,500 ราย ดังนั้นจึงวางแนวทางให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation)

“ขอย้ำว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งให้ท่านกลับไปอยู่บ้านเฉยๆ แต่จะดูแลทุกอย่างเหมือนในโรงพยาบาล โดยให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ในพื้นที่ที่ท่านพักอาศัยคอยติดตามดูแลสุขภาพของท่าน หากไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อมก็จะเป็นการดูแลโดยชุมชน ในสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน ขณะนี้กรุงเทพฯ รวมถึงภาคประชาสังคมดำเนินการแล้ว เมื่อทราบผลว่าติดเชื้อ ส่วนใหญ่ในกลุ่มตรวจเชิงรุกคือผู้ติดเชื้อโควิด ที่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว ก็จะรายงานผลเข้าระบบฐานข้อมูลของ สปสช. ส่วนท่านกลับไปกักตัวที่บ้าน อย่าออกไปไหน สปสช.จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อดูแลให้ จะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อไปหาท่านภายใน 48 ชั่วโมง” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า เมื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อผู้ติดเชื้อได้แล้ว จะส่งเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทำวิดีโอคอล หรือ Telehealth ติดตามประเมินอาการวันละ 2 ครั้งทุกวัน ขณะเดียวกันจะจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่ในบ้านได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร