

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ออมสิน”กดดอกเบี้ยต่ำช่วยท่องเที่ยว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้ขยายระยะเวลาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เดิมโครงการจบช่วงสิ้นเดือน มี.ค.จึงขยายให้ผู้ประกอบการเข้ามาขอสินเชื่อได้ถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งมีวงเงินเหลือกว่า 3,800 ล้านบาท เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยว สามารถกู้ได้สูงสุด 500,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% นาน 5 ปี
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเอสเอ็มอีมีที่มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินคงเหลือ 6,300 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อสูงสุด 70% ของราคาประเมิน สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ดอกเบี้ยปีแรก 0.1% ปีที่ 2 0.99%ต่อปี และปีที่ 3 5.99%ต่อปี รวมทั้งยังมีสินเชื่อสู้ภัยโควิด วงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท กู้สูงสุด 10,000 บาท นานสูงสุด 3 ปี ไม่มีหลักประกัน และไม่ต้องใช้บุคคลค้ำ ดอกเบี้ย 0.35% ทั้งนี้ สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟู ของธปท. กับธนาคารได้
ธ.ก.ส.ทุ่ม 9 หมื่นล้านบาทสร้างอาชีพฝ่าโควิด
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้มาตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกรวมเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 3 ล้านราย และสำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ธ.ก.ส.ออก 2 สินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท หนุนการสร้างอาชีพฝ่าวิกฤตโควิด-19 ให้คนในชุมชนเมืองและภาคชนบท ผ่านโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท
โดยกรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปีเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4 – 5 อัตราดอกเบี้ย MRR กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย
ส่วนอีก 60,000 ล้านบาท สำหรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรให้กับเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ในโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน โดยกรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุน ปีที่ 1-3 อัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ชำระคืน ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระ ต้นเงิน 3 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย
“โดยระยะเวลาจ่ายเงินกู้ทั้ง 2 โครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 – 31 มี.ค. 2567 และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอรับบริการสินเชื่อ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family และรับนัดหมายผ่าน SMS เพื่อจัดทำสัญญาต่อไป หรือติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ Call Center 02-555-0555”


บสย.ลุยค้ำฯสุดตัวต่อลมหายใจธุรกิจ
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยผลดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 มิ.ย. 2564 ว่า ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมทุกโครงการ จำนวน 103,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 107,000 ราย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู จำนวน 35,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 จำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 4 และโครงการอื่นๆ 6,900 ล้านบาท
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ 23 ธนาคาร อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 35,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 12,300 ราย อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดย 5 อันดับกลุ่มธุรกิจที่บสย.ค้ำสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3.การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 4.ธุรกิจยานยนต์ และ5. ธุรกิจพักแรม
นอกจากนี้ บสย. ยังมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อบรรเทาภาระการผ่อนชำระ ลูกหนี้ทั่วไป ได้แก่ มาตรการผ่อนชำระน้อยตามความสามารถจริง มาตรการดอกเบี้ยต่ำเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ ชำระค่างวดเงินต้น และกลุ่มลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา โดยลดจำนวนเงินค่างวด พักชำระหนี้ ระยะเวลา 6 เดือน
ธพว.เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี 7.5 หมื่นล้าน
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมวงเงินปล่อยกู้กว่า 75,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆให้วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาทต่อรายได้แก่ “สินเชื่อ SMEs D เติมทุน” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท รับ Re-finance ลดต้นทุนธุรกิจ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี “สินเชื่อ SMEs มีสุข” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงกิจการ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี และ “สินเชื่อ SMEs ยิ้มได้” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยเติมทุนหมุนเวียน ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินลดภาระหนี้ เช่น โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” รับโอนทรัพย์ ช่วยหยุดภาระการชำระหนี้ ให้สิทธิ์ซื้อคืนในอนาคตโดยไม่ถูกกดราคา และ “รับโอนทรัพย์ ชำระหนี้” กับ “Hair Cut หนี้”เปิดรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการพักชำระหนี้ จนปัจจุบันให้สิทธิ์พักชำระหนี้ไปได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 มีลูกค้าเข้ารับมาตรการพักชำระหนี้แล้วแบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประมาณ 42,000 ราย วงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท และลูกค้ากองทุนประชารัฐ ประมาณ 3,300 ราย วงเงินประมาณ 6,400 ล้านบาท
ธอส.ช่วยลูกหนี้บ้าน 1.3 แสนราย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)กล่าวว่า ธอส.จะให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 7 มาตรการ ที่ยังคงค้างอยู่จำนวน 137,000 ราย และยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ออกไปอีก 7 เดือน หรือจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ อาทิ แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดต้น ตัดดอก) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน
ส่วนมาตรการที่ 12 ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลตรายเดิมที่อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ระลอกใหม่ สามารถเลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน (ตัดเงินต้นและดอกเบี้ย) หรือ เลือกพักชำระหนี้ และพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติพร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะหนี้เสีย (NPL) และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เริ่มเปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม 6 มาตรการผ่าน แอปพลิเคชัน GHB ALL หรือ GHB Buddy ได้ตั้งแต่วันที่ 1-29 ก.ค.นี้ 2564 ส่วนมาตรการที่ 12 ลงทะเบียนได้ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-พ.ย.นี้

“เอ็กซิมแบงก์”ผุด 5 มาตรการอุ้มผู้นำเข้า-ส่งออก
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนไทย จากผลกระทบของโควิด-19 ด้วย มาตรการ “ซ่อม สร้าง เสริม” จนถึงปัจจุบันให้ความช่วยเหลือแล้วกว่า 2,800 ราย วงเงินรวม 48,000 ล้านบาท โดยเป็น SMEs ถึง 85%
สำหรับมาตรการของEXIM BANK มีทั้งหมด 5 มาตรการ ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2.สินเชื่อฟื้นฟู เพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ วงเงินสูงสุด 150 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี 3. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี กู้สูงสุด 7 ปี 4.สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี และ5.สินเชื่อส่งออกสุข สุด สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน