

- ส่งเอกสารผลประกอบการ-งบการเงินปี 63-34 มาให้พิจารณา
- ยกเว้นค่าเช่าประชาชน-เกษตรกร มีผู้ได้ประโยชน์กว่า 500,000 ราย
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่มีสัญญาเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ โดยในส่วนของประชาชน และเกษตรกรได้มีประกาศยกเว้นการเก็บค่าเช่าจนถึงสิ้นสุดเดือนธ.ค.64 ส่วนภาคเอกชนที่ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นกรมให้ผู้ประกอบการเลื่อนการจ่ายค่าเช่าออกไปก่อน
“การยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับที่อยู่อาศัย และการเกษตรในปีนี้ คาดว่าจะมีประชาชน และเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 500,000 ราย ส่วนการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการที่เช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี เช่น อาจผ่อนผันเก็บค่าเช่า 6-12 งวด และนำค่าเช่าไปทยอยผ่อนต่อทีหลัง รวมถึงอาจให้ส่วนลดเพิ่มเติม แต่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเดือดร้อนหรือถูกผลกระทบจากโควิดจริง”
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโควิด สามารถแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือเข้ามาได้ พร้อมส่งเอกสารผลประกอบการ งบการเงิน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบในช่วงปี 63-64 ซึ่งเกิดผลกระทบโควิด กับผลประกอบการปีก่อนหน้านั้น หากพบว่ามีรายได้หายไป กรมก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ทั้งการผ่อนผันชำระ หรือลดค่าเช่าให้ 25-50% ตามความเดือดร้อนจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการที่รับการผ่อนผัน ช่วยเหลือไปหลายราย
ส่วนการดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่ผ่านมากรมได้มีลดค่าเช่าให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไป 40% เนื่องจากธุรกิจการบินได้รับผลกระทบมากจากการปิดประเทศ ทำให้มีจำนวนคนเดินทาง จำนวนเที่ยวบิน และสายการบินเข้ามาใช้ประโยชน์ในสนามบินลดลงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็จะมีการลดค่าเช่าจากปีละ 550 ล้านบาท เหลือ 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาพรวมรายได้ของกรมหายไปกว่า 3,000 ล้านบาท
“แม้การช่วยเหลือผู้ประกอบการจะทำให้กรมมีรายได้ลดลงไปบ้าง แต่ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระผู้เดือดร้อนจากโควิดตามนโยบายของรัฐบาล และกรมพยายามจะหารายได้ทางอื่นมาชดเชยส่งเข้าแผ่นดินให้มากขึ้น ซึ่งภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ กรมจะสามารถนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับจากการยึดทรัพย์คดียาเสพติด คดีคอร์รัปชั่น ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตามคำสั่งศาล นำมาเปิดประมูลขายให้เอกชนผ่านระบบออนไลน์ หลังกฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งมีมูลค่านับพันล้านบาท”
ขณะเดียวกัน กรมอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อขอปรับเงื่อนไขการ ส่วนการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร ได้นำเรื่องขอปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) แล้ว คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ขยายเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์การลงทุนให้ทัดเทียมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากที่ยังว่างอยู่ ก็จะนำกลับมาเปิดประมูลได้ในปีนี้เช่นกัน