

- หอบเงินมาลงทุนกว่า 3 พันล้าน-จ้างงาน 227 คน
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีแขนงที่ไทยไม่มีหรือไม่เชี่ยวชาญ
- ฮ่องกงแชมป์ลงทุนสูงสุด ตามด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า เดือนเม.ย.64 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 15 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 3,085 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 227 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน และเป็นแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะที่ช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปีนี้ ได้รับอนุญาต 75 ราย เงินลงทุน 7,960 ล้านบาท

“เดือนเม.ย. จำนวนคนต่างด้าวได้รับอนุญาต ลดลง 35% เทียบกับเดือนมี.ค.64 ที่ได้รับอนุญาต 23 ราย ส่วนเงินลงทุน ลดลง 12% จากเดือนมี.ค.64 ที่มีเงินลงทุน 3,486 ล้านบาท โดยต่างด้าวที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฮ่องกง 4 ราย เงินลงทุน 2,998 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ 4 ราย เงินลงทุน 33 ล้านบาท และญี่ปุ่น 1 ราย เงินลงทุน 13 ล้านบาท”
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน 5 ราย จากฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และฝรั่งเศส มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ให้แก่ ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม, บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา บริหารจัดการโครงการระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ เพื่อรองรับระบบตั๋วโดยสารข้ามระบบ (ตั๋วร่วม) สำหรับบัตรแรบบิท และบัตรโดยสารเอ็มอาร์ทีพลัส เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีทอง รวมถึงบริการที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า 4 ราย จากญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุน 28 ล้านบาท เช่น การทำกิจการโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ บริการให้ใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นสำหรับการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า เป็นต้น , ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า 4 ราย จากสิงคโปร์ เดนมาร์ก และอินเดีย มีเงินลงทุน 29 ล้านบาท เช่น การค้าปลีกสารเคมีพิเศษสำหรับบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและในโรงไฟฟ้า เป็นต้น
รวมถึงธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ 2 ราย จากฮ่องกง และสวีเดน มีเงินลงทุน 2,990 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ บริการทางบัญชี รวมทั้งบริการให้เช่าพื้นที่ จัดการ และควบคุมการผลิต ให้แก่บริษัทในเครือ
