

- หลังผู้ขอจดทำข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมมาแล้ว
- แต่ยังไม่พบขั้นการประดิษฐ์สูงที่ขึ้นอีก
- ส่งผลไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิ “อภ.”ลุยผลิตได้เลย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ด ที่ผู้ผลิตยาจากประเทศญี่ปุ่นได้ยื่นคำขอมาตั้งแต่เดือนก.ย.60 ว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 กรมได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว ภายหลังจากให้โอกาสผู้ขอ ได้ชี้แจงเพิ่มเติม และผู้ขอจดได้ชี้แจงเพิ่มเติมมาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.64 แต่หลังจากผู้ตรวจสอบ ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ขี้แจงเพิ่มเติมอย่างละเอียด รอบคอบ โดยสืบค้นจากฐานข้อมูลทั่วโลกแล้ว พบว่า ยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอีก จึงไม่เข้าตามเงื่อนการรับจดสิทธิบัตร ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 กรมได้ออกคำสั่งปฏิเสธคำขอ และแจ้งผู้ขอไปแล้ว
“การปฏิเสธคำขอ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาของกรมตามกฎหมาย แต่ผู้ขอ ยังมีโอกาสอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธของกรมต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ภายใน 60 วัน หากไม่อุทธรณ์ภายในกำหนด จะถือว่า คำสั่งปฏิเสธของกรมเป็นที่สุดแล้ว แต่หากอุธรณ์แล้ว คณะกรรมการสิทธิบัตรไม่เห็นด้วยตามที่อุทธรณ์มา ผู้ขอก็สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลอุทธรณ์ และสุดท้ายศาลฎีกาได้”
สำหรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์มีหลักๆ 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยา ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทยเลย แต่มีสิทธิบัตรอยู่ทั่วโลก และหมดอายุความคุ้มครองตั้งแต่เดือนส.ค.62 ดังนั้น ผู้ผลิตยาสามารถนำสูตรโครงสร้างนี้ ไปพัฒนาเป็นสูตรยาได้ ส่วนฉบับที่ 2 เป็นการขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ที่บริษัทยาของญี่ปุ่นยื่นคำขอจดในไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ย.60 และหลังจากที่ผู้ตรวจสอบของกรม ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า “ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” จึงแจ้งผู้ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 ให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้ และผู้ขอ ได้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จึงได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอดังกล่าว
นายวุฒิไกร กล่าวต่อว่า เมื่อกรมปฏิเสธคำขอไปแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบัน ไม่มีใครในประเทศไทย เป็นเจ้าของสูตรโครงสร้างสารออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟาวิพาราเวียร์แบบเม็ดเลย และไม่มีใครมีสิทธิผูกขาดการผลิต ดังนั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถเดินหน้าผลิตยาชนิดนี้แบบเม็ดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอภ.ให้ข้อมูลว่า จะยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยาฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ด กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ราวเดือนส.ค.นี้ หากได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว อภ.จะสามารถผลิตและขายให้คนไทยได้ทันที
สำหรับประเด็นที่มีการเสนอในบางสื่อว่า ประเทศไทยไม่สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory License หรือ CL) เพื่อให้ไทยผลิตยาที่มีสิทธิบัตรได้เอง เนื่องจากติดขัดที่กรม กำลังแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อให้เจ้าของสิทธิบัตรยาที่ไทยใช้ CL สามารถอุทธรณ์เพื่อไม่ให้ไทยใช้ CL นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรที่มีการอ้างถึง ปัจจุบันเป็นเพียงร่างกฎหมายที่อยู่ภายในหน่วยงาน ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น การใช้สิทธิ CL จึงยังเป็นอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ. พ.ศ. 2522