

วันที่ 5 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ของประชาชนชนในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย โครงการเราชนะ กลุ่มเป้าหมาย 32.5 ล้านคน โดยเป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ มีระยะเวลาใช้จ่ายสิ้นสุด 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท
และโครงการ ม.33เรารักกัน กลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยเป็นการขยายวงเงินช่วยเหลืออีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.คลี่คลายลง กรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท โดยจะขอใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวนลุ่มเป้าหมาย 13.64 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564)
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ กลุ่มเป้าหมาย 2.5 ล้านคน โดยช่วยลดภาระค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564)
3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ตามสิทธิโครงการไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคน
และ4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยรัฐสนับสนุนอี-วอยเชอร์ (E-Voucher) ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ใช้ได้สูงสุดวันละ 5,000 บาท ในเดือนก.ค.-ก.ย.2564 เพื่อไปใช้จ่ายในเดือนส.ค.-ธ.ค.2564 คาดมีประชาชนเข้าร่วม 31 ล้านคน
ทั้งนี้มาตรการเยียวยาผลกระทบประชาชนในส่วนลดภาระค่าครองชีพโดยการแจกเงินจะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 225,000 ล้านบาท