กบข.มองเศรษฐกิจทั่วโลกทยอยปรับตัวดีขึ้น สวนทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าจากโควิดระลอกสาม



  • ชี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะยาวอยู่ในขาขึ้น
  • คาดค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ที่ ระดับ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า  ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มทรงตัวหรือดีขึ้นในระยะต่อไป ดัชนีเศรษฐกิจทยอยปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปสงค์และอุปทาน หรือภาคการผลิตและบริการ การค้าโลกแสดงสัญญาณฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับขึ้นการคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และการกลับมามีรายได้จากการท่องเที่ยว

“กบข. มองแนวโน้มภาพรวมการลงทุนในช่วงนี้และระยะถัดไปจากปัจจัยความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ การคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจเริ่มชะลอตัวลง และจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยการส่งสัญญาณปรับลดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE taper) ในช่วงกลางปีหรือในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงผลประกอบการโดยรวมจากสถาบันการเงินในไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ส่งผลกระทบเชิงบวกกับตราสารทุนกลุ่มปลายวัฏจักรการลงทุน ได้แก่ ตราสารทุนกลุ่มทีมีค่า (Value) และ หุ้นวัฏจักร (Cyclical) เช่น การเงิน อุตสาหกรรม และพลังงาน”

นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) และการคาดการณ์ส่งสัญญาณ การปรับลดเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของสหรัฐ (QE Taper) ดังกล่าว ส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth หรือ หุ้นที่เน้นการเติบโต เช่น หุ้นกลุ่ม Technology ขณะเดียวกัน กบข. ยังคงคาดการณ์ Bond Yield อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ไว้ที่ 1.8-2.0 % ภายในปี 2564 แต่ค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสที่ 2

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของ Bond Yield และการคาดการณ์ส่งสัญญาณ QE Taper อาจผลักดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า อาจไปถึงระดับ 31.5-31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าภายในปีนี้ไตรมาสที่ 4 อาจกลับมาใกล้เคียงระดับ 31.3 ซึ่งค่อนข้างอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปลายปีที่ 2563 เนื่องจากประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย (Current Account) เข้าใกล้ศูนย์หรือติดลบ เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า และมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น