ราคาเหล็กโลกพุ่งดันราคาผลิตภัณฑ์ไทยขึ้นยกแผง



  • พาณิชย์เล็งถกผู้ผลิต-ผู้ใช้หาทางลดผลกระทบ
  • อาหารกระป๋องโอดราคาทินเพลตสูง 3 ไตรมาสติด
  • แต่ขึ้นราคาขายไม่ได้กำลังซื้อผู้บริโภคไม่มี

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ราคาเหล็กโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด และผลักดันให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมี.ค.64 อยู่ที่ 110.2 สูงขึ้น 0.5% เทียบกับเดือนก.พ.64 และสูงขึ้น 5.4% เทียบกับเดือนมี.ค.63 ส่วนเมื่อเทียบไตรมาส 1/64 กับไตรมาส 1/63 สูงขึ้นถึง 4.4% สาเหตุหลักมาจากราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ  ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่า ดัชนีไตรมาส 2/64 จะสูงขึ้นต่อเนื่อง 

“ราคาที่สูงขึ้นมาจากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็ก และกำลังการผลิตตามแผนแม่บทปี 64 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ประกอบกับ ความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์การระบาดของวิด-19 เริ่มคลี่คลาย” 

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะเชิญผู้ประกอบการในวงการเหล็ก ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาหารือถึงสถานการณ์ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในวงการก่อสร้างรายกลางและเล็ก ที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง มีต้นทุนทินเพลต ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นกระป๋องบรรจุอาหาร สูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว และอาจขอปรับขึ้นราคาอาหารกระป๋องนั้น ขณะนี้ ผู้ประกอบการยังไม่ได้ทำเรื่องมายังกรมแต่อย่างใด 

“ภายใน 1-2 วันนี้ จะเชิญทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ใช้เหล็กทั้งระบบมาหารือถึงสถานการณ์ราคาว่าปรับขึ้นจากสาเหตุใด ปรับขึ้นเท่าไร ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไร และการปรับราคาขายใหม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงหาแนวทางลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ แต่คงยังไม่ถึงขั้นต้องควบคุมราคา”

ส่วนนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว่า ราคาเหล็กโลกที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้า และผู้ใช้ของไทย ที่หาซื้อสินค้าไม่ได้ ส่วนผู้ผลิตในประเทศ ก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามราคาเหล็กโลกที่สูงขึ้น กระทบต่อผู้ใช้ในประเทศ โดยเฉพาะผู้ใช้ในวงการก่อสร้าง ที่เป็นรายกลางและรายเล็ก สำหรับเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศบางชนิด ที่กรมใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) หลังจากพบว่า มีการทุ่มตลาดในไทยจนทำให้ผู้ผลิตของไทยได้รับความเสียหายนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ สั่งการให้กรมหารือกับทั้งผู้ผลิตในประเทศ และผู้นำเข้า ผู้ใช้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

“โดยต้องให้มีสินค้าใช้ และราคาไม่แพงจนเกินไป เพราะผู้ผลิตเหล็กในประเทศชนิดเดียวกับเหล็กนำเข้าที่กรมเก็บภาษีเอดี มักปรับขึ้นราคาขายอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ส่งของให้ตามคำสั่งซื้อ จนผู้ใช้เดือดร้อน เพราะอ้างว่า ได้รับผลกระทบจากถูกเหล็กนำเข้าดัมพ์ราคา ซึ่งที่ผ่านมา กรมได้เจรจากับกลุ่มเหล็กรีดร้อน เหล็กพีพีจีแอลสำหรับทำหลังคา ไปแล้ว หลังจากนี้จะหารือกับกลุ่มทินเพลต เหล็กลวด ฯลฯ” 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คาดว่า น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ไตรมาส กำลังการผลิตเหล็กของโลกน่าจะกลับมา จากที่ผ่านมา ผู้ผลิตหลายประเทศล็อกดาวน์ ปิดเตาหลอม ส่วนราคาเหล็กโลกที่สูงขึ้น ทำให้ราคาทินเพลตสูงขึ้นต่อเนื่องมา 3 ไตรมาสแล้ว โดยทินเพลต เป็นสัดส่วนในต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง 20-60% ปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตอาหารกระป๋องคือ สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ถ้าจะขึ้นราคาตั้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน แต่ถ้าเป็นสินค้านำเข้า สามารถขึ้นราคาขายได้เลย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คงยังไม่ขอปรับขึ้นราคาขายอาหารกระป๋อง เพราะกำลังซื้อประชาชนไม่มี ต้องติดตามราคาเหล็กอย่างใกล้ชิด