

- นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว
- ติดตามรายละเอียดแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
- ตลาดได้แรงหนุนหลังตัวเลขด้านแรงงาน -การใช้จ่ายสหรัฐยังไปได้สวย
เมื่อเวลา 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,061.17 จุด เพิ่มขึ้น 79.62 จุด หรือ +0.24% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,469.13 จุด เพิ่มขึ้น 208.39 จุด หรือ +1.57% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะลุ 4,000 จุดเป็นครั้งแรก เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 4,002.92 จุด เพิ่มขึ้น 30.03 จุด หรือ +0.76%
นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นจากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่หอประชุมในเมืองพิทส์เบิร์ก เมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ (31 มี.ค.) โดยเป็นการซื้อกลับหุ้นในแทบทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ แผนการดังกล่าวครอบคลุมการใช้จ่ายในระยะเวลา 8 ปี แต่ข่าวร้ายคือจะมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแผนจะมีการอัดฉีดเงินมูลค่า 6.21 แสนล้านดอลลาร์ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น สะพาน ถนน การขนส่งสาธารณะ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และการแจกเงินโดยตรงให้กับชาวอเมริกันผู้สูงอายุและทุพพลภาพ คิดเป็นมูลค่ารวม 4 แสนล้านดอลลาร์
รวมทั้งอัดฉีดเงินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคเกี่ยวกับน้ำดื่ม ขยายการเข้าถึงบรอดแบรนด์ และปรับปรุงระบบการจ่ายไฟฟ้า และอัดฉีดเงินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการสร้างและปรับปรุงโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งการลงทุนมูลค่า 5.80 แสนล้านดอลลาร์ในด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา และการฝึกฝนอาชีพให้กับชาวอเมริกัน
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 719,000 รายในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 27 มี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 675,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 658,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 684,000 ราย นอกจากนั้น หากดูค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่ายังลดลงสู่ระดับ 719,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2563
ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 3.794 ล้านรายในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 20 มี.ค. จากระดับ 3.870 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.1 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 58.6 ในเดือนก.พ. โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของคำสั่งซื้อใหม่