ปลัดคลัง สั่งจับตา “บริษัทพิโกไฟแนนซ์” หวั่นนอมินีแฝงเข้ามาถือหุ้นเพื่อฟอกเงิน



นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีนายทุนจากต่างประเทศเข้ามากว้านซื้อบริษัทพิโกไฟแนนซ์นั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้น และเรื่องการเงิน ซึ่งลักษณะการเข้ามาถือหุ้นอาจจะเป็นรูปแบบตัวแทนถือหลักทรัพย์ (นอมินี) อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีการตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าทุกๆ เดือน และจะมีการรายงานงบการเงินในช่วงสิ้นปี

“ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นชัดเจน ในลักษณะว่าเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาถือหุ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้หากเข้ามา เพราะจะต้องแก้ไขกฎเกณฑ์หลายอย่าง แล้วจะกลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าวไป หรืออาจจะเป็นในเรื่องนอมินีแทน โดยใช้คนไทยมาดูแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประสานงานกันร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูเรื่องเงินทุนของบริษัทว่าไหลเข้าไปส่วนใดบ้าง เพื่อป้องกันเรื่องใช้นอมินีแฝงเข้ามาเพื่อการฟอกเงิน ซึ่งก็เข้าใจว่าบริษัทมีการตรวจสอบนักลงทุนในเรื่องที่มาของทุน ก่อนที่จะเข้ามาถือหุ้น”

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวจะไม่มีปัญหา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่ได้รับฝากเงินจากประชาชน แต่ใช้เงินทุนของบริษัทเองเขามาช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบที่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูง ให้เข้ามาอยู่ในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี นอกจากนี้ กระทรวงการคลังไม่ได้กำกับบริษัทพิโกไฟแนนซ์เหมือนกับสถานบันการเงิน เนื่องจากบริษัทใช้เงินทุนของตนเองปล่อยสินเชื่อ ฉะนั้น ในเรื่องความมั่นคงหากบริษัทขาดทุนก็จะขาดทุนเอง

ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีความกังวลเรื่องการใช้นอมินีเข้ามาเพื่อเป็นการฟอกเงินเช่นกัน จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบการกระทำผิด เช่น บริษัทพิโกไฟแนนซ์ทำธุรกิจแล้ว มีเงินทุนเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีฐานความผิด กระทรวงการคลังก็จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เป็นผู้ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนก.พ. 2564 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 947 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (565 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (148 ราย) ภาคเหนือ (119 ราย) ภาคตะวันออก (65 ราย) และภาคใต้ (50 ราย) ตามลำดับ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 459,664 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 10,890.51 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 23,692.33 บาทต่อบัญชี