สคร.ดันงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 300,000 ล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ



  • เดือนก.พ.นี้ ยอดเบิกจ่ายได้ตามเป้า 99%
  • ปัญหาการอุทธรณ์ผลคัดเลือกทำให้การลงทุนล่าช้า

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามากระทบภาพรวมเศรษฐกิจ การลงทุนของรัฐบาลจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ ดังนั้น สคร.จึงเดินหน้าเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้เม็ดเงินงบลงทุนไหลเข้าระบบตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ กรอบงบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่งที่สคร.กำกับดูแลอยู่ที่ 327,258 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมส่วนใหญ่เป็นไปตามแผน โดยเป้าหมายเบิกจ่ายอยู่ที่ 94,900 ล้านบาท โดยสามารถเบิกจ่ายได้ 94,048 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบลงทุน 5 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ต.ค.2563 – ก.พ.2564) 34 แห่ง จำนวน 78,566 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และการเบิกจ่ายงบลงทุน 2 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (ม.ค. 2564 – ก.พ.2564 ) 9 แห่ง จำนวน 15,482 ล้านบาท หรือคิดเป็น 108% ของแผนเบิกจ่ายสะสม

ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 2564 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่าย ได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีของ รฟม. โครงการรถไฟฟ้า ชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ของ รฟท.

งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของ กปภ. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และโครงการปรับปรุงระบบส่งภาคตะวันออกเสริมความมั่นคงของ กฟผ.

ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)ของ รฟท. โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1 – 2) ของ กฟผ. โครงการพัฒนาระบบส่ง และจำหน่ายระยะที่1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแผนก่อสร้างศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. (ระยะที่ 2) ของ กทพ. และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ ของ รฟท.

โครงการลงทุนที่เริ่มมีการเบิกจ่ายล่าช้า สคร. จะเข้าไปร่วมตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขปัญหากับรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายและช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องการลงทุนภาครัฐ”

นอกจากนี้ สคร.ได้พัฒนาระบบติดตามและรายงานข้อมูลผลการเบิกจ่ายงบลงทุน (Dashboard) ของรัฐวิสาหกิจ ให้มีฐานข้อมูลที่รวดเร็วยิ่งขึ้นและทุกคนสามารถเข้าดูได้ผ่านเว็บไซต์ของ สคร. ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยระบบ Dashboard จะทำให้การกำกับและติดตามการดำเนินงานการเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สาเหตุความล่าช้าการเบิกจ่ายงบลงทุน อาทิ 1.การยื่นอุทธรณ์ผลการคัดเลือกเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้ต้องรอผลอุทธรณ์ หรือผลการวินิจฉัยก่อน รวมทั้ง ต้องจัดทำร่าง TOR และเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหรือคัดเลือกเอกชนใหม่ 2.การปรับแบบและแก้ไขรายการในสัญญาส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานของงานส่วนอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมทั้ง การรวมงานต่างๆ ไว้อยู่ในสัญญาเดียวกัน ซึ่งหากงานใดไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือการเบิกจ่ายงานอื่นในสัญญาเดียวกัน

3.การขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ รวมทั้ง การก่อสร้างโครงการซึ่งจะส่งผลกระทบกับโครงการอื่นหรือการก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานอื่น ทำให้ต้อง มีการปรับแบบหรือร่าง TOR ให้มีความสอดคล้องกับเนื้องานหรือระยะเวลาการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นด้วย

4.เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้การนำเข้าอุปกรณ์ วัสดุ ก่อสร้าง หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมทดสอบระบบจากต่างประเทศดำเนินการได้ล่าช้า รวมทั้ง ขาดแคลน แรงงานในการก่อสร้าง และ 5. การวางแผนการเบิกจ่ายไม่สอดคล้องกับความเป็นไปได้หรือความสามารถในการดำเนินงานหรือการเบิกจ่ายที่แท้จริงของรัฐวิสาหกิจ

สำหรับแผนการลงทุนในรูปแบบ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)​ในปี 2564 มีอยู่ 10 โครงการ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ มีอยู่ 4 โครงการที่คณะกรรมการPPP อนุมัติให้ดำเนินการ โดยมีมูลค่ากว่า 160,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (รฟม.) มูลค่า 124,791 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (กรมทางหลวง) มูลค่า 1,606 ล้านบาท

3.โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (กรมทางหลวง) มูลค่า 1,454 ล้านบาท 4.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง (รฟม.) มูลค่า 35,201 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ปี ‪2563-2570‬ ที่เดิมมีโครงการอยู่ใน Pipe line 92 โครงการมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท โดยปรับปรุงแล้วลดลงเหลือ 77 โครงการจาก 9 กระทรวง มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจาก บางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP และบางโครงการเปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแทน ในจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 20 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 503,153 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการจัดทำโครงการ PPP ข้างต้น จะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภายใต้แผนดังกล่าว ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้จากภาครัฐ ตลอดจน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะแก่ประชาชนจากความรู้ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนอีกด้วย