

- ลุยจัดตั้งบริษัท “ยี้ฟาน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์” รุกตลาดขนส่งสินค้า
- หวังฟื้นความสัมพันธ์การค้ากลับมาโดยเร็ว หลังพิษโควิดทำกระทบ
- ปูทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน ไร้อุปสรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ทางสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้จัดงานในพิธีลงนามสัญญาไทย-จีน เปิดตัวบริษัท ยี้ฟาน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งสินค้า ที่โรงแรมรามาดา พลาซา กรุงเทพฯ แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ โดยงานนี้ได้เชิญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งงานนี้ก็มีบรรดานักธุรกิจทั้งฝ่ายไทยและจีน มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะที่ผมมาจากภาครัฐบาล ก็รู้สึกเห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคเอกชนที่ผนึกกำลังกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไป โดยก็มานึกถึงว่า เมื่อปีที่แล้วเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต ด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยการติดต่อระหว่างคนกับคนยังต้องมีการเว้นระยะห่างกัน แน่นอนก็ส่งผลให้การดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในด้านการติดต่อกันระหว่างประเทศกับประเทศด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเคราะห์ร้ายที่ทำให้ประเทศไทยและประเทศจีน ที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน ก็ต้องเว้นระยะห่างต่อกันในด้านการทำมาค้าขายกัน

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า มาวันนี้สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงเป็นลำดับ โดยมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ฉะนั้นด้านการค้า การติดต่อ กรมคมนาคม การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-จีน ก็เริ่มกลับมาเป็นดั่งเดิมแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 นี้เป็นต้นไป ทางรัฐบาลได้มีมติยอมรับให้มีวัคซีนพาสปอร์ตระหว่างประเทศไทย-จีน ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยให้ทั้ง 2 ประเทศ กลับมาทำการค้าขายได้ดั่งเดิม
“สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะสำเร็จและเดินหน้าต่อไปได้ คงจะพึ่งแต่ภาครัฐคงไม่ได้ เพราะอาจติดในเรื่องข้อจำกัดหลายอย่าง โดยอย่างการเซ็นสัญญาในวันนี้ ก็เป็นอีกความสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งความสำเร็จในการติดต่อค้าขายจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนด้วยกัน โดบเฉพาะเมื่อมีหน่วยงานกลางเป็นตัวเชื่อม เสมือนเป็นสะพานระหว่างไทยและจีน ส่งผลให้การค้าขายก็จะฟื้นตัวได้รวดเร็ว ซึ่งนับเป็นการดีอย่างยิ่งที่เรามีสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯมาเป็นคนกลางในครั้งนี้” นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ ทุกความร่วมมือล้วนมีความสำคัญ โดยสิ่งที่สภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ มีบทบาทอย่างมากในการเป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจจีน ให้กลับมาทำการค้าติดต่อกัน ซึ่งวันนี้ก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการเซ็นสัญญาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่สินค้าหหรือกองเรือขนสินค้าจากประเทศจีนมาประเทศไทยได้ ก็ต้องมีการขนส่งสินค้าขึ้นทางบกซึ่งก็มีการร่วมมือกับบริษัทขนส่งของไทย เพื่อเสริมความพร้อมและเชื่อมโยงสินค้าของไทยและจีน ให้ขนส่งได้อย่างครบวงจร
“ในนามของรัฐบาลก็ต้องขอขอบคุณ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ และขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในยุคนิวนอร์มอลเป็นอย่างดี โดยตัวอย่างความร่วมมือในวันนี้ อาจดูเป็นความร่วมมือที่ไม่ใหญ่มาก แต่หากเปรียบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือว่าไม่เล็กในยามปัจจุบันนี้ โดยผมจะนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปบอกเล่าในทีมรัฐบาลฟังและรับรู้ และอยากจะส่งเสริมให้มีการจับคู่ในลักษณะเช่นนี้ ในธุรกิจอื่นๆ ให้เกิดขึ้นอีก”นายวิษณุ กล่าว

นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า ระบบการขนส่งสินค้านั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจการค้าขายอย่างมาก ซึ่งหากขาดเรื่องนี้ไปการค้าระหว่างประเทศต้องเกิดอุปสรรคแน่นอน ทั้งนี้หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ได้เกิดอุปสรรคกระทบด้านการค้ามากมาย อย่างเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอต่อการขนส่งสินค้า ทำให้การค้าขายต้องหยุดชะงักคาดความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ
ทั้งนี้มองว่าการเซ็นสัญญาลงนามในวันนี้ในการจัดตั้งบริษัท ยี้ฟาน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด เป็นอะไรที่เหมาะสมกันมาก ในการร่วมมือกันในเวลาเช่นนี้ เพราะจะได้ช่วยกันเสริมความแกร่งให้ซึ่งกันและกัน
นายพินิจ กล่าวต่อว่า นักธุรกิจชาวจีนในปัจจุบันที่เข้ามาติดต่อธุรกิจกับไทยตอนนี้มีช่วงอายุที่ไม่มากเหมือนอย่างเช่นในอดีตที่ผ่าน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งการที่มีอายุไม่มาก เป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะมีบุคลิกที่มีความกล้า มีความสามารถซึ่งก็จะส่งผลให้การเจรจาทำข้อตกลงกันได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามอยากให้ลองย้อนนึกกลับไปเมื่อ 70 กว่าปีก่อนของประเทศจีน พูดได้ว่าตอนนั้นประเทศเขาไม่มีอะไรเลยจากนั้นก็เริ่มเปิดประเทศ เริ่มมีการเรียนรู้พัฒนาในด้านต่างๆ มีความพยายามพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นความยากลำบาก กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างเช่นในทุกวันนี้
“ในปี 2564 นี้ คิดว่าสินค้าที่ขนส่งระหว่างจีนมาไทยต้องมีอย่างน้อยหลายแสนตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 2563 มีการขนส่งกันประมาณ 700,000 ตู้ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด มีการขนส่งสินค้า 1 ล้านกว่าตู้ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก” นายพินิจ กล่าว
ทั้งนี้อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ผลไม้ของไทยอย่างทุเรียน ก็ยังฮิตติดลมบนในประเทศจีนอย่างมาก เป็นที่ต้องการของนักธุรกิจและผู้บริโภคชาวจีน โดยในปีที่ผ่านมาราคาขายอยุ่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 170 บาท และในปีนี้ราคาขยับขึ้นไปที่กก.ละเกือบ 200 บาท ซึ่งก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดประเทศจีนอยู่ โดยขณะนี้มีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือเรื่องการขนส่งสินค้าดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบมีเครื่องทำความเย็น เพื่อรักษาคุณภาพของทุเรียนให้คงคุณภาพไว้
นายพินิจ กล่าวว่า ในปีที่ 2563 ที่ผ่านมา มีการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนกว่า 6,000-7,000 ตู้ มูลค่าการส่งออก54,000 ล้านบาท ซึ่งจากการร่วมมือจัดตั้งบริษัทกันในครั้งนี้ ก็จะเป็นอีกประตูสู่ความสำเร็จทางด้านการค้าระหว่างไทยและจีน ที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันต่อไป

ด้านนายหวัง เจียน กรรมการผู้จัดการ ผู้แทนจากประเทศจีน บริษัท ยี้ฟาน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ลงนามเปิดบริษัทในวันนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ต้องขอขอบคุณทางสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ ที่เป็นตัวกลางในการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้
ทั้งนี้ยี้ฟานก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 15 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ มีกองเรือขนส่งสินค้า 4 ลำ รวมน้ำหนักบรรทุกที่8,900 ตัน โดยให้บริการในเส้นทางประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย โดยล่าสุดเรือของยี้ฟานได้มาเทียบท่าที่เกาะสีชัง เพื่อทำการขนแร่หินเพื่อนำกลับไปยังประเทศจีน
นายหวัง กล่าวว่า การที่บริษัทตัดสินใจมาก่อตั้งบริษัทที่ประเทศไทยเพราะต้องการเติบโต ตามนโยบาย “วันเบลท์วันโรด” หรือ เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องด้านการขนส่งสินค้าที่แบบครบวงจร อีกทั้งยังมีธุรกิจโกดังให้เช่าอีกด้วย
นายจิตรกร เผด็จศึก ประธานหอการค้า จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าให้แข็งแกร่งขึ้น โดยขณะนี้ทางไทยเราก็มีคามพร้อมโดยมีรถขนส่งไว้รองรับกว่า 700 คัน
ทั้งนี้ในช่วงแรกบริษัทที่ร่วมกันก่อตั้ง จะมีรถบรรทุกร่วมกัน 50 คัน โดยจากนี้ไปในระยะ 3-5 ปี ก็จะขยายเพิ่ม ซึ่งมองว่าในอนาคตอันใกล้หากบริษัทจากประเทศจีนจะมาลงทุนในประเทศไทย มีการขนส่งสินค้าระหว่างกัน จุดนี้ก็จะมาเป็นตัวช่วยที่ดีได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ระหว่างไทยกับจีนได้แน่นอน
นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในตัวแทนบริษัทเอกชนของไทยที่มาร่วมงาน กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ที่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เอกชนทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทที่มีความสำคัญในการทำธุรกิจด้านการค้าขาย ทั้งนี้ต้องบอกว่าบริษัทขนส่งสินค้าถือเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในการส่งมอบสินค้าจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่หลายบริษัทประสบปัญหาหาตู้คอนเทนเนอร์จัดส่งสินค้าไม่ได้ รวมถึงมีอุปสรรคในเรื่องค่าขนส่งที่ขยับตัวสูงขึ้นอย่างมากกว่า 200%
ทั้งนี้การจัดตั้งบริษัท ยี้ฟาน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด ในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะมาเป็นตัวช่วยให้บรรดาบริษัทที่ต้องขนส่งสินค้าไปประเทศจีนมีตัวช่วยที่มีศักยภาพ ซึ่งก็ถือได้ว่าบริษัทขนส่งสินค้าก็เป็นอีกห่วงโซที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
“ในส่วนของบริษัทคาราบาว กรุ๊ป เองในขณะนี้ก็มีความต้องการส่งสินค้าไปประเทศจีนเช่นกัน โดยต้องการตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าประมาณ 400-500 ตู้ ซึ่งก็เชื่อว่าจากนี้ไป การมีบริษัทยี้ฟานฯ ก็จะมาช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ได้” นายเสถียร กล่าว