8พรรคร่วมมีมติจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน “พิธา”นั่งหัวโต๊ะ



  • พร้อมตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาประชาชนตามเอ็มโอยูเบื้องต้น 7 ชุด
  • “พิธา-ชลน่าน”ยืนยันก้าวไกลและเพื่อไทยจะหารือร่วมกันตำแหน่งประธานสภา

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำอีก 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังหารือแนวทางและแผนงานการทำงานร่วมกันภายหลังลงนามเอ็มโอยู โดยนายพิธากล่าวว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมกันมีมติจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีตัวแทนร่วมเป็นกรรมการดังนี้

ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย นายวิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเป็นธรรม นายกัณวีร์ สืบแสง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยรวมพลัง นายวสวรรธน์ พวงพรศรี และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่ นายเชาว์ฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ โดยคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่พรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงาน 7 คณะเพื่อตอบสนองปัญหาของประชาชน ซึ่งจะยึดเอ็มโอยู 23 ข้อเป็นหลัก โดย 7 คณะทำงานชุดแรกประกอบด้วย  คณะทำงานเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และพลังงาน, ภัยแล้ง เอลนีโญ, ปัญหาชายแดนภาคใต้, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพีเอ็ม2.5, แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและเอสเอ็มอี และคณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจะมีตัวแทนของแต่ละพรรคเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน

ทั้งนี้คณะทำงานจะทยอยตั้งขึ้นให้ครบเอ็มโอยู 23 ข้อ จะกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายร่วมกันแถลงต่อสภาแล้วนำไปปฏิบัติทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติต่อไป โดยจะสามัคคีกันทำงานในการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนการจัดสรรตำแหน่งฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำงานร่วมกัน โดยยึดวาระของการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง ขณะที่ตำแหน่งประธานสภาทางพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะพิจารณาร่วมกัน โดยเรายืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เตรียมพร้อมบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประชาชนเหลือแค่กกต.รับรองส.ส. รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นโดยเร็วหวังว่ากกต.จะรับรองอีกไม่นาน

น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภา มีข้อตกลงร่วมกันว่าทั้งสองพรรคจะพิจารณาร่วมกัน ไม่ได้คำนึงถึงว่าจะต้องเป็นโควตาของพรรคใดพรรคหนึ่ง และจะไม่ให้เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทั้ง 8 พรรค ไม่เป็นประเด็นที่จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือแตกแยก เรามัดกันแน่นอยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราเองต้องการให้ตำแหน่งประธานสภาเป็นลักษณะการสนับสนุนการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีและมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน