6 เดือน รัฐจัดเก็บรายได้ทะลุ 1 .09 ล้านล้าน

  • สรรพากร เก็บรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้น 15.6%
  • เหตุลดภาษีดีเซล ฉุดรายได้สรรพสามิตลด
  • คาดทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาท 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 65 (ตุลาคม 64 – มีนาคม 65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,091,156 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 68,890 ล้านบาท หรือ 6.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6.8% 

ทั้งนี้เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสากร ที่สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สูงขึ้นตามการขยายตัวของการนำเข้า และรายได้ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจากสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยกรมฯ จัดเก็บรายได้ 852,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 737,240 ล้านบาท 

ส่วนการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 276,452  ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8% และต่ำว่าประมาณการ 5.8% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ  โดยคาดว่าทั้งปีจะสามารถจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปี งบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,107,285 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน  1,408 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 0.1% ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,723,069 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 439,713 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน 52,903 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.7% ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 360,855 ล้านบาท