6 ก.พ.นี้ ทัวร์จีนยังไม่ทะลัก! “แอตต้า”ชี้เห็นชัดอีกทีไตรมาส 3



  • เที่ยวบินเข้าไทยยังเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก
  • บริษัททัวร์ของจีนก็ยังไม่มีความพร้อม

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า วันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นวันแรกที่รัฐบาลจีนอนุญาตไห้ทำทัวร์นักท่องเที่ยวจีน ออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ หลังจากที่เปิดประเทศ ยกเลิกการกักตัวไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมานั้น โดยเบื้องต้นมองว่า ในระยะเริ่มต้นคงยังไม่ได้เห็นทัวร์ชาวจีนเข้ามาเที่ยวไทยแบบล้นทะลักมากขนาดนั้น เพราะสิ่งสำคัญคือ เที่ยวบินเข้าไทยยังเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก รวมถึงบริษัททัวร์ของจีนก็ยังไม่มีความพร้อมมากนัก เพราะต้องปิดตัวไปกว่า 3 ปี ทำให้ต้องเร่งเตรียมความธุรกิจใหม่ ทั้งในแง่ของการบริหาร และการดึงพนักงานกลับมาอีกครั้ง แต่ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวไทยมาก

นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการคนไทย ทั้งบริษัททัวร์นำเที่ยว พนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร ตอนนี้ก็เตรียมความพร้อมมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้พร้อมแบบเต็มที่เหมือนปกติก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 โดยก่อนที่จะมีการประกาศให้ทำทัวร์ชาวจีนออกนอกประเทศได้นั้น ผู้ประกอบการแทบไม่ได้มีการขยับอะไรเพิ่มเติม ในส่วนของการเตรียมความพร้อม แม้จีนประกาศเปิดประเทศแล้วก็ตาม แต่เมื่อจีนประกาศให้ทำทัวร์ได้แล้ว จึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการขยับเพิ่มขึ้น แต่เพราะต้องปิดให้บริการไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเตรียมพร้อมกันใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมพนักงานไว้รองรับการบริการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบมากๆ ก็คงไม่ได้

“ความพร้อมของผู้ประกอบการตอนนี้ ก็มีมากขึ้นแล้ว แต่ยังต้องเตรียมตัวมากขึ้นอีกแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ว่ากว่าความพร้อมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3/2566 สอดคล้องกับที่ประเมินไว้ว่า ไตรมาส 3 จะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทย ฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเริ่มทยอยเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นตั้งไตรมาสไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป” นายศิษฎิวัชร กล่าว

นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า ประเด็นที่ยังมีความกังวลเป็นเรื่องสงครามระหว่างประเทศ ความตึงเครียดในหลายๆ ประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดสงคราม และทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะหากมีสงครามเกิดขึ้น ก็แน่นอนว่าการเดินทางจะชะลอตัวหรือหยุดลงตามไปด้วย รวมถึงจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนในด้านต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตอนนี้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ทั้งในแง่พลังงาน และดอกเบี้ย ซึ่งต้องแบกรับและบริหารตามกลไกที่เกิดขึ้น