4 ค่ายโทรคมนาคม เรียงแถวรับเอกสารประมูล 5 จี



  • “ทรูมูฟ-ดีแทค-ทีโอที-แคท” มารับเรียบร้อย
  • กสทช.นั่งรอ “เอไอเอส” เดินมารับเอกสารถึง 3 ก.พ.นี้
  • “ฐากร”​มั่นใจ 16 ก.พ.นี้ เคาะราคาประมูลแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคม ที่สนใจเข้าประมูล 5 จี บนคลื่นความถี่700 ,1800,2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์   รับเอกสารการประมูลได้ตั้งแต่วันที่  2 ม.ค. 63  จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจรับเอกสารแล้ว 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  และบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือแคท  โดยกสทช.จะเปิดให้รับเอสการจนถึงวันที่  3 ก.พ. และวันที่ 4 ก.พ. จะเปิดให้ยื่นเอกสาร เพื่อการประมูลในวันที่ 16 ก.พ.63 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ขณะนี้กสทช.ยังมั่นใจว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จะมารับเอกสารประมูล 5 จี แน่นอน แต่ไม่รู้วันไหน เพราะยังมีเวลาเหลืออีกหลายวัน 

ด้านนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การรับเอกสาร 5 จีเป็นการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)​ ที่สนับสนุนให้ ทีโอที ในฐานะหน่วยงานภาครัฐร่วมประมูลเพื่อนำไปพัฒนาบริการสาธารณประโยชน์ต่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล ต่อการแพทย์สาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคง และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดย ทีโอที จะนำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวไปศึกษาเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบคอบ รวมถึงการหารือบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการเข้าประมูลคลื่นความถี่ และมูลค่าที่เหมาะสมนำเสนอคณะกรรมการบมจ.ทีโอที เพื่อนำเสนอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามขั้นตอนต่อไป

“ทีโอที  มีศักยภาพความพร้อมด้านโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลที่จะตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ เป็นความภาคภูมิใจของ ทีโอที ที่จะมีส่วนในการให้บริการบนเครือข่าย 5G ทั้งในด้านของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการเพื่อสาธารณะในพื้นที่ห่างไกล เป็นประโยชน์สังคมและประเทศชาติ”

ส่วนจะประมูลคลื่นใดนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ(บอร์ด) จะต้องไปพิจารณา ซึ่งมีแนวโน้มว่า แคทจะยื่นประมูลคลื่น  700 เมกะเฮิตรซ์  เพื่อนำไปทดแทนคลื่น  850 เมกะเฮิตรซ์ ที่จะสิ้นสุดใบอนุญาต และคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นจุดดึงดูงนักลงทุนให้มาลงทุนในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์  ซึ่งขณะนี้ได้เปิดประมูลไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มีเอกชนให้ความสนใจเนื่องจากไม่มีการประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนแต่อย่างใด