3 ปัจจัย:เศรษฐกิจ 64 มีโอกาสติดลบ !!

ผ่านมาแล้วใกล้จะครบ 1 เดือน ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นรอบที่รวดเร็วและรุนแรงมากกว่าในครั้งแรกมาก เพราะเพียงไม่กี่วันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่จากครั้งแรก ได้แซงยอดผู้ติดเชื้อในรอบแรกไปแล้ว โดยในขณะนี้เรามีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 10,000 คน และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้า จึงจะมีโอกาสที่จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่น่าพอใจ 

ทั้งนี้ ในทางสาธารณสุข หากผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน อยู่ในระดับไม่เกิน 30 คนจากทุกแหล่ง ถือว่าเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ 

ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขการติดเชื้อในระดับ 3 หลักเช่นในปัจจุบัน สถาการณ์ถือว่าอยู่ในขั้น “ไม่ปลอดภัย”

สำหรับความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น ทุกภาคส่วนมองตรงกันว่า การใช้วิธี “ซอฟท์ ล็อกดาวน์” หรือ จำกัดประเภท-จำนวนการปิดสถานบริการ จำกัดเวลาการใช้บริการ และจำกัดพื้นที่นั้น เป็น “ทางเลือก” ที่ดีกว่าการใช้วิธีล็อกดาวน์ โดยให้ปิดกิจการชั่วคราวตลอดเวลา หรือ ฮาร์ด ล็อกดาวน์ ในช่วงเดือนเม.ย.ปีที่ผ่านมา  ซึ่งให้ “สถานที่ทีมีความเสี่ยงที่จะมีคนพบปะกัน เป็นเวลาเกินกว่า 30 นาที”ทั้งหมด ปิดกิจการชั่วคราว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ความเสียหายของเศรษฐกิจไทยจากการระบาดรอบใหม่นี้ไว้ใน 3 กรณี  คือ กรณีฐาน กรณีแย่กว่าและกรณีแย่ที่สุด อยู่ระหว่าง 200,000-600,000 ล้านบาท

คือ กรณีฐาน หากภาครัฐคุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน และใช้เฉพาะซอฟท์ ล็อกดาวน์เท่านั้น กรณีจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยกรณีนี้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตประมาณ 2.2% จากปีที่ผ่านมา

กรณีที่แย่กว่า คือ รัฐยืดเวลาการคุมสถานการณ์ออกไปได้ภายใน 2 เดือน โดยใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน และขยับเป็นฮาร์ด ล็อกดาวน์ 1 เดือน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 200,000-400,000 ล้านบาท โดยกรณีีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตเข้าใกล้ 0% หรือไม่่เกิน 1%

ส่วนกรณีแย่ที่สุด  คุมได้ภายใน 3 เดือน โดยใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน และฮาร์ด ล็อกดาวน์ 2 เดือน) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 300,000-600,000 ล้านบาท โดยกรณีที่ 3 นี้ เศรษฐกิจไทยในปี 64 นี้ จะกลับไปติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ต่อจากปีที่ผ่านมา โดยติดลบในเบื้องต้นที่ 0.3% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะติดลบถึง 11.3%

คิดแบบง่ายๆ คือ ความเสียหายต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 200,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเริ่มต้นใช้ซอฟท์ ล็อกดาวน์ ของรัฐบาลในวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา โอกาสที่รัฐบาลจะคุมสถานการณ์ได้ภายใน  1 เดือน หรือภายในต้นเดือน ก.พ.น่าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และไม่น่าเกิดขึ้นได้ 

ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดได้นั้นในขณะนี้มี 2 ทาง คือ แย่กว่า (คุมได้ภายในต้นเดือน มี.ค.) หรือแย่ที่สุด (คุมได้ในต้นเดือนเม.ย.)  หรืออาจจะแย่กว่า “แย่ที่สุด” หากระยะเวลาการควบคุมสถานการณ์นานกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการพยุงเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ประมาณการ  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า รัฐบาลต้องเร่งส่งเงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมในวงเงินน้อยที่สุดคือ 200,000 ล้านบาท โดยมองว่า การเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการคนละครึ่งและการเร่งให้เกิดการใช้จ่ายของคนชั้นกลาง-สูงผ่านโครงการช้อปดีมีคืน หรือการกระตุ้นการใช้จ่ายแบบอื่นๆ 

แต่อย่างไรก็ตาม สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจอีกหลายแห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินภาพเศรษฐกิจหลังการระบาดรอบใหม่ ให้ข้อสังเกตไว้ 3 ข้อ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 0% หรือติดลบเป็นปีที่ 2 คือ 

ข้อแรก  หรือ ข้อที่ 1. มีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นว่า การแพร่ระบาดรอบนี้อาจจะใช้เวลายาวนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะทำให้ความเสียหายมากกว่าที่คาดไว้ในขณะนี้ และแม้ว่าจะคุมสถานการณ์ได้ภายใน 3 เดือน และความซึมลึกของความเสียหายในการระบาดรอบนี้จะสร้างรอยแผลที่ลึกขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย และทำให้การฟื้นตัวช้ากว่าที่เกิดขึ้นในปี 63

ข้อที่ 2  ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการแบบ ซอฟท์ ล็อกดาวน์ หรือ ฮาร์ด ล็อกดาวน์ ในขณะนี้มีค่าเสียหายที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งการใช้จ่าย หรือ การท่องเที่ยวที่ลดลง เพราะการล็อกดาวน์ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการล็อกดาวน์ในจังหวัดที่มีมูลค่า และกิจกรรรมทางเศรษฐกิจสูง ผู้คนมีกำลังซื้อสูง และเป็นฐานของนักท่องเที่ยวหลักภายในประเทศ  ซึ่งย่อมกระทบต่อรายได้ และการจ้างงานของคนทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง

ข้อที่ 3 การปรับความช่วยเหลือ และมาตรการในการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐอาจจะไม่ตรงจุด หรือรวดเร็วเพียงพอ เช่น ในขณะนี้เรามองถึงการอัดเงินเพิ่มลงไปใน โครงการคนละครึ่ง หรือชอปดีมีคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องมีการ “ออกไปใช้จ่าย” ตามสถานที่ต่างๆเป็นหลัก คือ ห้างสรรพสินค้า ตลาด หรือตามพื้นที่จำหน่ายสินค้าข้างทาง  

ขณะที่รัฐบาลพยายามจำกัดให้คนทำงานจำนวนมากที่สุด ทำงานที่บ้าน  นอกจากนั้น หการออกจากบ้านน้อยลง เพื่อซื้อสินค้าจำเป็นจริงๆ ให้เพียงพอต่อการอยู่บ้านหลายๆ วัน วงเงินคนละครึ่งวันละ 150 บาท คงไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ และจำนวนวันที่ออกจากบ้านลดลง ทำให้โอกาสที่พ่อค้า แม่ขายจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ย่อมลดน้อยลงตามไปด้วย 

รัฐคงต้องพิจารณาให้ดีถึงข้อดี ข้อเสียโดยรวม หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยปีนี้กลับไปติดลบต่อเป็นปีที่ 2

#Thejournalistclub #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ #เศรษฐกิจไทย