ไอเดียใหม่!ให้ ธ.ก.ส.-ออมสิน-ปตท.เป็นเจ้าขอ งเครื่องจักรทางการเกษตรปล่อยให้เกษตรกรเช่า

  • ช่วยแก้ปัญหาทุนน้อย
  • “สมคิด”เชื่อมโมเดลญี่ปุ่น
  • ดัน “ประชารัฐสร้างไทย”ให้สำเร็จ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ว่า ได้หารือกับนายโนบุฮิโกะ ซาซากิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) ประเทศญี่ปุ่น และธนาคารโนรินจูคิน (The Norinchukin Bank) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพร้อม และต้องการหาโมเดลที่ตอบรับกับแนวคิดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน หรือแม้กระทั่งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เข้าไปช่วยภาคการเกษตรด้วยการเป็นเจ้าของเครื่องจักรทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น รถแทรกเตอร์ รถดำนา โดรนเพื่อการเกษตร รถเกี่ยวนวดข้าว เครื่องอบข้าว เครื่องสีข้าว แล้วปล่อยให้เกษตรกรเช่า เพราะลำพังเกษตรกรเองไม่มีเงินทุนจะซื้อมาเป็นเจ้าของได้

“การมาญี่ปุ่นครั้งนี้เพื่อให้เจโทรแนะนำ เพราะธุรกิจของญี่ปุ่นโตขึ้นมาได้เพราะเจโทร และเขามีบริษัทที่มีเครื่องจักรแปรรูปสินค้าการเกษตรจำนวนมาก ขณะที่ไทยได้วางแนวทางปฎิรูปเศรษฐกิจฐานราก เรียกว่าโครงการประชารัฐสร้างไทย ต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อนว่าไม่ใช่แค่ผู้ผลิตสินค้าเกษตร แต่ต้องการให้ทั้งชุมชนฐานรากมีผลผลิต และความสามารถผลิตและแปรรูปสินค้าที่มีมูลค่า มีความสามารถสร้างผลผลิตชุมชนร่วมกันสามารถเข้าถึงเงินทุน และเชื่อมโยงการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งธนาคารโนรินจูคิน ใหญ่กว่า ธ.ก.ส.ถึง 15 เท่า จึงจะให้ ธ.ก.ส.ไปเชื่อมโยงการทำงานและนำโมเดลและคนของเขามาช่วย รวมทั้งให้สอดรับกับที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุนได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนในชุมชนด้วย”

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ จะต้องหาโมเดลให้ชุมชนเกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรโดยง่ายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการให้เช่า ถ้าหากกฏหมาย ธ.ก.ส.ทำเองไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ หรือใช้วิธีเช่าซื้อเพื่อให้ชุมชนได้เป็นเครื่องจักร หรืออาจให้กองทุนหมู่บ้านมาทำการกู้ เบื้องต้นวางวงเงินสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรการเกษตร 20,000 ล้านบาท ซึ่งจากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.เพิ่มทุน 20,000 ล้านบาท เงินงวดแรกที่จะเพิ่มทุนให้ 6,000 ล้านบาทจะถึงมือ ธ.ก.ส.เดือนมี.ค.นี้ ส่งผลให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เพิ่มได้อีก 10เท่า ขณะที่การทำงานของ ธ.ก.ส.จากนี้ไปได้ปรับทัศนคติใหม่ให้เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนา ให้เลิกคิดว่าเป็นนายแบงค์ มีหน้าที่ปล่อยกู้ แต่ให้เข้าไปดูว่าชุมชนต้องการอะไร เทคโนโลยีแบบไหนเหมาะสม และจะให้ทุนชุมชนไปดำเนินการต่อได้อย่างไร

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และกระทรวงการคลังให้ทำภารกิจมากขึ้นนอกจากการดูแลเกษตรกรยังให้ช่วยดูแลเศรษฐกิจฐานรากซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเกษตรกรสมัยใหม่ (smart farmers) สตาร์ทอัพภาคการเกษตร การพัฒนาวิสาหกิจเกษตรชุมชน การช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรการเกษตรของเกษตรกร และการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน โดย ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้สนับสนุนภารกิจต่างๆ 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% โดยเริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว 200ล้านบาท โครงการนี้มีระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ 3 ปี โดยในปีแรกตั้งเป้าปล่อยกู้ให้ได้ 20,000 ล้านบาท ส่วนโครงการและรูปแบบอื่นๆที่จะมาปรับใช้ในไทยได้มีการหารือกับธนาคารโนรินจูคิน (The Norinchukin Bank) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่นเพื่อนำรูปแบบที่เหมาะสมมาใช้ในไทย โดยในระยะแรกจะเป็นการดำเนินการในหมู่บ้านต้นแบบก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ พร้อมกันนี้รองนายกฯสมคิด สั่งการให้ประสานกับธนาคารโนรินจูคิน เพื่อจัดหาบริษัทที่ทำเครื่องจักรแปรรูปสินค้าเกษตร และสร้างสถาบัน New Gen Smart Farmer

สำหรับแนวคิดที่รัฐบาลจะให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ลงทุนในเครื่องจักรการเกษตรและนำมาให้เกษตรกรเช่าซื้อหรือปล่อยเช่า ธ.ก.ส.กำลังดูรูปแบบที่เหมาะสม โดยอาจตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ หรือจัดสินเชื่อพิเศษสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร งิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ได้ซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรืออาจให้กองทุนหมู่บ้านในตำบลเดียวกันรวมตัวกัน หรือรวมกับสหกรณ์การเกษตร แล้วยื่นขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.โดยมีรัฐบาลสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่ง เช่น หากมีการเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านก็สามารถที่จะนำมาเป็นเงินตั้งต้นเพื่อซื้อเครื่องมือทางการเกษตรและส่วนที่เหลือก็ผ่อนชำระกับ ธ.ก.ส.ในรูปแบบที่เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวได้