ไม่หยุด!…สภาองค์กรของผู้บริโภคต้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวล่วงหน้า

  • สภาองค์กรของผู้บริโภคออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5
  • ย้ำรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน
  • ครม.ต้องหยุดต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า
  • ราคา 25 บาทเป็นราคาที่ทำได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 ระบุถึงกรณี ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แจ้งไว้ว่าจะนำเรื่องค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่เข้าครม.เพื่อลงมติ ในขณะเดียวกัน BTS ก็ออกคลิปทวงหนี้รัฐบาลออกอากาศ รวมทั้งนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเรื่องต้นทุนของรถไฟฟ้า และบริษัทกรุงเทพธนาคมของ กทม. ได้ออกมาโต้เรื่องราคาเช่นกัน

โดยภาพรวม สภาองค์กรของผู้บริโภคมองเห็นว่า เป็นกระบวนการที่ชี้ชวนและบังคับให้ประชาชนจำยอมรับราคา 65 บาทที่กทม.ตั้งไว้ มีเพียงคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ออกมาให้ข้อมูลหนี้กทม. และเห็นว่า หลังปี พ.ศ. 2572 หมดสัญญาสัมปทานแล้ว รายได้ต่างๆ ของรถไฟฟ้าสามารถใช้หนี้ได้สบาย แถมสามารถลดราคาให้ประชาชนได้อีก

สภาองค์กรของผู้บริโภคขอเรียกร้องให้รัฐบาล มีหลักการเบื้องต้นของการสร้างระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้เป็นบริการขนส่งมวลชนในการสัญจรในกรุงเทพมหานคร ที่การจราจรกำลังทำให้เมืองเป็นอัมพาต สร้างมลพิษทางอากาศ และทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของชาติ แต่เมื่อราคารถไฟฟ้ามิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสามารถจ่ายได้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สัญจรไปมา ระบบรถไฟฟ้าก็จะกลายเป็นสัญญาลักษณ์ของความล้มเหลวของรัฐบาล

สภาองค์กรของผู้บริโภค มีความเห็นโดยภาพรวมดังนี้

1.เสนอครม.ยุติการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าสายสีเขียว และกำหนดให้รถไฟฟ้าหลากสีเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐมีหน้าที่จัดบริการให้ประชาชนเข้าถึง พร้อมเร่งจัดทำราคารถไฟฟ้าสูงสุดที่ประชาชนสามารถจ่ายได้ต่อวัน ให้ทุกสายยุติเก็บค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน เพราะหากนำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณา ประชาชนต้องจ่าย 65 บาทเป็นเวลา 38 ปี อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงตามสัญญาสัมปทานสายเกินไปที่จะทำให้ประชาชนได้ราคารถไฟฟ้าที่เป็นบริการขนส่งมวลชนจริง เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่เขาสามารถทำให้ประชาชนจ่ายค่ารถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ป้องกันปัญหามลภาวะและลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร

2.สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้หาวิธีการใหม่ในการทำสัญญาหรือการต่อสัญญาสัมปทานที่เกี่ยวข้องกับบริการขนส่งมวลชนหรือบริการสาธารณะ รวมถึง สายสีส้มที่กำลังจะดำเนินการประมูล ไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์แอบแฝงเหมือนในอดีตและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กรณีกรุงเทพมหานครยอมรับว่าได้ทำสัญญาจ้างเดินรถกับเอกชน ถึงปี 2585 เกินสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียวที่จะหมดในปี 2572 หากรัฐหรือ กทม.จะหักดิบไม่ต่อสัญญาจ้างบริหารกับ BTS เพื่อให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2572 แม้จะทำได้แต่ก็คงจะเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาแน่

3.เสนอให้ยึดหลักการบริการขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และไม่ค้ากำไร ยืนยันว่า 25 บาททำได้จริงจากการให้สัมภาษณ์ของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.
ให้ข่าวว่า การกำหนดราคา 65 บาท กทม.จะได้ผลตอบแทน 240,000 ล้านบาท ตลอดสัมปทาน 30 ปีแต่จากการคาดการณ์ของกระทรวงคมนาคม หากใช้ราคา 49.83 บาท จะทำให้กทม.มีรายได้ 380,200ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี หากนำเงินจำนวนนี้ใช้หนี้เดิมในช่วง ปีพ.ศ. 2560-2572 ประมาณ 100,000 ล้านบาท กทม.ยังมีกำไรสูงถึง 280,200 ล้านบาท(380,200-100,000 = 280,200 ล้านบาท)

4.การเปิดเผยข้อมูลมากยิ่งขึ้นจะทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกลง เช่น ค่าจ้างเดินรถควรมีราคาสูงสุดเท่าใด หากใช้ข้อมูลกระทรวงคมนาคม คำนวณค่าจ้างเดินรถ 30 ปี ไว้จำนวน 248,000 ล้านบาท หากคิดรวมค่าจ้างเดินรถเพิ่มอีก 8 ปี (2564-2572) ค่าจ้างเดินรถ ควรจะอยู่ที่ประมาณ 314,134 ล้านบาท ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ คิดค่าจ้างเดินรถ 38 ปี ในช่วงปี 2564-2602 รวมทั้งหมดประมาณ 841,000 ล้านบาท

5.สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวและมองรถไฟฟ้าหลากสีทั้งระบบ ต้องรวมทุกสาย ทุกส่วนต่อขยายเป็นระบบเดียวกับบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ ทั้งสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู สีแดง สีทองสีส้ม เช่น ตั้งบริษัท Joint venture ที่มิใช่การตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมากินหัวคิว แบบที่ผ่านๆมา แต่เป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน แบ่งค่าใช้จ่ายและรายได้ร่วมกันทุกอย่าง ต้องรวมทุกสาย ทุกส่วนต่อขยายเป็นระบบเดียวกับบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่สำคัญต้องมีราคาที่ถูกลงทั้งระบบ

6.สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้บริหารจัดการรายได้ของรถไฟฟ้าทั้งระบบ ยืนยัน 25 บาท ตลอดสายทำได้จริง นอกจากรายได้จากค่าโดยสารแล้วยังมีรายได้อื่นๆ เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณรถไฟฟ้า การโฆษณา การจัดเก็บภาษีลาภลอยจากการพัฒนาที่ดิน หรือการจัดเก็บภาษีน้ำมันจากผู้ใช้รถยนต์โดยขึ้นภาษีน้ำมัน 20 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้กทม.มีรายได้ประมาณ 6,500 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันว่า การจัดบริการขนส่งมวลชนเป็นพันธกิจของรัฐบาลที่มอบให้กทม. ดำเนินการแทน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ จะนำเรื่องขาดแคลนงบประมาณมาเป็นข้ออ้างไม่ได้ เพราะมีวิธีหารายได้หลายๆทางที่จะนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่ขาดทุนได้