ไทยเฮ! ปีนี้ดัชนีนวัตกรรมอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก

.ดีขึ้นจากปี 63 และอยู่ที่ 5 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

.รั้งที่ 1 ประเทศที่เอกชนลงทุนวิจัย-พัฒนามากสุด

.WIPO ชื่นชมความสามารถด้านนวัตกรรมไทยสูงขึ้น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีนวัตกรรมโลกปี 64 (Global Innovation Index 2021 หรือ GII 2021) ภายใต้หัวข้อ Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis ซึ่งปีนี้ได้รวมการประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีตาอขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศๆ ด้วย โดยพบว่า อันดับ GII ของไทยอยู่ที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 63 และอยู่อันดับ 5 จาก 34 ประเทศรายได้ปานกลาง รวมถึงอยู่อันดับ 9 ของกลุ่มประเทศในอาเซียน เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย ที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด

สำหรับรายงานดังกล่าว ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19  โดยยังครองอันดับ 1 ประเทศที่เอกชนลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นอันดับ 42 ด้านการพัฒนา ความรู้และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม จากอันดับ 86 ในปี 63 รวมทั้งยังอยู่อันดับ 51 ที่ภาครัฐให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ จากเดิมอันดับ 81 นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ไทยมีพัฒนาการด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเด่นชัด โดยติดอันดับ 47 จากปี 63 อันดับ 54 และเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไปยังต่างประเทศผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) อันดับที่ 75  

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวปราศรัยในงานเปิดตัวรายงาน GII 2021 ว่า ดัชนีนวัตกรรมระดับโลก ถือเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยชี้วัด ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับการพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ขอขอบคุณ WIPO ที่กระตุ้นให้โลกเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก แชะโอเชียเนีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างโดดเด่น และทำให้ช่องว่างด้านนวัตกรรมของภูมิภาคนี้กับอเมริกาเหนือ และยุโรปลดลง โดย 5 ประเทศในภูมิภาคนี้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมโลก ได้แก่ เกาหลี ปีนี้ GII อันดับ 5, สิงคโปร์ 8, จีน 12, ญี่ปุ่น 13 และฮ่องกง 14  ขณะที่อาเซียน ไทย 43, เวียนาม 44, ฟิลิปปินส์ 51, และอินโดนีเซีย 87 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 4 ประเทศมีอันดับดีขึ้นระหว่าง 5-40 อันดับ โดยไทยและเวียดนาม ติด 30 อันดับแรกของโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ส่วนฟิลิปปินส์ มีจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรมาก นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญๆ เช่น ไทย ติดอันดับ 1 ประเทศที่ภาคธุรกิจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุด ส่วนเวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำของโลกด้านการส่งออกสินค้าไฮเทคโนโลยี

ทั้งนี้ WIPO จัดทำ รายงาน GI I ทุกปี โดยประเมินตัวชี้วัดทั้งหมด 81 ตัว แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสถาบัน เช่น สภาพแวดล้อมด้านการเมือง กฎระเบียบด่านนวัตกรรม, ด้านทรัพยากรบุคคลและการวิจัย, ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อกับนวัตกรรม, ด้านความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เช่น การหาตลาดต่างประเทศ, ด้านความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินธุรกิจ, ผลผลิตด้านความรู้และเทคโนโลยี และด้านผลงานสร้างสรรค์