ไทยยื่นให้สัตยาบันความตกลง “อาร์เซ็ป” ก่อนกำหนด



  • หลังสมาชิกยื่นแล้ว 7 จากกำหนด 9 ประเทศ
  • มั่นใจมีผลใช้บังคับตามเป้าหมาย 1 ม.ค.65 แน่
  • ไทยได้ประโยชน์จากสมาชิกเปิดตลาดสินค้าให้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 ไทยได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแล้ว จากเดิมที่คาดยื่นในเดือนพ.ย.64 หลังจากที่สมาชิกทั้งสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น บรุไน ลาว กัมพูชา ยื่นให้สัตยาบันแล้ว โดยคาดว่า ความตกลงจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 ม.ค.65 ตามกำหนดเดิมที่สมาชิกได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ ความตกลงกำหนดถึงการมีผลบังคับใช้ว่า เมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศจาก 10 ประเทศ ยื่นให้สัตยาบัน ล่าสุดยื่นแล้ว 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา และไทย และสมาชิกนอกอาเซียน 3 ประเทศจาก 6 ประเทศยื่นให้สัตยาบัน ล่าสุด ยื่นแล้ว 2 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น ส่วนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ จะยื่นในเร็วๆ นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เมื่ออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ ไทยจะสามารถเข่าสู่ตลาดขนาดใหญ่ 15 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 2,300 ล้านคน หรือ 30.2% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวม 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 30.3% ของมูลค่าการค้าโลก และเฉพาะไทย มีการค้าและการลงทุนมากกว่า 50% อยู่ในตลาดของสมาชิกอาร์เซ็ป

นอกจากนี้ ในด้านการค้า สมาชิกลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเป็น 0% ทั้งหมด 39,366 รายการ แบ่งเป็น ออสเตรเลีย 5,689 รายการ, จีน 7,491 รายการ, ญี่ปุ่น 8,216 รายการ, เกาหลีใต้ 11,104 รายการ และนิวซีแลนด์ 6,866 รายการ โดยในจำนวนนี้ จะยกเลิกภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ 29,891 รายการ หรือ 75.9% ของรายการสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมด และสินค้าที่ทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี อีก 9,475 รายการ

“ภายใต้อาร์เซ็ป คู่เจรจาทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้ตกลงที่จะเพิ่มรายการสินค้าที่จะเปิดตลาด และทยอยลดภาษีนำเข้าจากไทยให้มากกว่าที่ลดอยู่แล้วในกรอบความตกลงกาค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ทำกับไทย รวมทั้งหมด 653 รายการ โดยจีน เพิ่มให้ 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ และเกาหลีใต้ 413 รายการ ซึ่งจะทำให้ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น”

โดยสินค้าไทยที่จะประโยชน์จากการเปิดตลาดให้เพิ่มเติม หรือลดภาษีเป็น 0% ทันที ในส่วนของจีน เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เป็นต้น, ญี่ปุ่น เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น และจีน เช่น พริกไทย สัปปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น  

ส่วนสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากการทยอยลดภาษี ในส่วนของจีน เช่น สับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จะทยอยจาก 7.5-15% เป็น 0% ภายใน 20 ปี เป็นต้น, ญี่ปุ่น จะลดภาษีผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เป็น 0% ภายใน 16 ปี เป็นต้น , เกาหลีใต้ จะลดภาษีผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด และทุเรียน และผลไม้และลูกนัตอื่น ๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เป็น 0% ภายใน 10-15 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถนำวัตถุดิบภายใต้อาร์เซ็ป RCEP มาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการส่งออก, เพิ่มโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน เพราะอาร์เซ็ป ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น, ช่วยให้ไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และค้าปลีก เป็นต้น