ไทยมั่นใจผ่านเกณฑ์ประเมิน IMO ยกระดับมาตรฐานขนส่งทางน้ำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) ร่วมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศว่า องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและประสานมาตรฐานสำหรับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันมลพิษทางทะเลโดยเรือ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก IMO ตั้งแต่ปี 2516 และได้ปรับปรุงมาตรฐานการเดินเรือ เพื่อความปลอดภัยและการป้องกันสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนากระบวนการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานทางทะเลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจถึงการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตราสาร IMO การปรับปรุงขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระดับชาติ และความปลอดภัยในชีวิตทางทะเลในระดับภูมิภาค เพื่อป้องกันมลพิษทางเรือผ่านยุทธศาสตร์การเดินเรือโดยรวมของประเทศไทย และเนื่องจากในปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ IMO จึงขอใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่มีต่ออาณัติของ IMO ในการพัฒนาการขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืน

“ในการตรวจประเมินดังกล่าวจะมีขึ้นตั้งแต่ 20-27ก.พ.66 ซึ่งประเทศไทยมีความมั่นใจว่าเราจะผ่านเกณฑ์ตรวจประเมินอย่างแน่นอน ส่วนข้อแก้ไขในการประเมินคราวที่แล้วได้มีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะเกิดเรื่องของอุบัติเหตุทางน้ำขึ้น แต่เราก็ได้ปฎิบัติตามข้อกำหนดโดยกรมเจ้าท่าได้เข้าพื้นที่และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป โดยที่ผ่านมาถือว่าได้ปฎิบัติตามมาตรฐาน” นายศักดิ์สยาม กล่าว 

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบอนุมัติการลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและ IMO เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ IMSAS โดยมอบให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือรองอธิบดีกรมเจ้าท่าที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้แทนฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว และอนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 16 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการ โดยมีพันธกรณีที่ต้องรับการตรวจประเมินจาก IMO ในอนุสัญญาที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี 6 ฉบับ 

สำหรับประเด็นการตรวจประเมินฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดทำกลยุทธ์ระดับประเทศในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนด การกำกับดูแลการดำเนินการโดยคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อประสานงานกับ IMO การลงนามบันทึกความร่วมมือแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา การฝึกอบรมให้กับเรือไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บข้อมูลตรวจอากาศทางทะเล การขยายสถานี Navtex เพื่อให้บริการข่าวสารด้านการเดินเรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอั่วไทยและอันดามัน การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย การตั้งสำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ เพื่อให้การสอบสวนอุบัติเหตุทางน้ำเป็นอิสระ และการตั้งกลุ่มมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าและสินค้าอันตราย เพื่อกำหนดการกำกับ ดูแลความปลอดภัยระหว่างการขนส่งสินค้าทางเรือ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการตรวจประเมิน IMSAS เป็นมาตรการเชิงสร้างสรรค์ (Positive Measure) ของ IMO ในการยกระดับการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเป็นการรวบรวมผลการปฏิบัติจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการช่วยเหลือทางวิชาการ ให้ประเทศสมาชิกได้ยกระดับความสามารถในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาได้โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติจากการประชุมคณะมนตรีสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 32 (COUNCIL 32nd  extraordinary session) ที่มีมติรับรองแผนการปรับปรุงกำหนดการตรวจประเมินประเทศสมาชิกภาคบังคับ (IMSAS) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้เลื่อนการตรวจประเมินในปี 2564 ออกไปเป็นปี 2565 และผลการประชุมคณะมนตรี ครั้งที่ 125 (125th Council : C125) ที่มีมติรับรองให้ใช้การตรวจประเมินทางไกล (Remote Audit) เป็นมาตรการชั่วคราวในช่วงสถานการณ์ COVID-19 

ส่วนการให้ประเทศสมาชิกยอมรับและนำไปปฏิบัติในรูปของตราสารต่าง ๆ ได้แก่ อนุสัญญา พิธีสาร กฎ และข้อบังคับ ปัจจุบันมีสมาชิก 174 ประเทศ และสมาชิกสมทบ (เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และหมู่เกาะแฟโร) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาและพิธีสารของ IMO 14 ฉบับ จากอนุสัญญาและพิธีสารทั้งหมด 59 ฉบับ