ได้ลุ้น! ผ่อนปรนระยะที่ 4 -ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ (29 พ.ค.) โดย พล.อ.ประยุท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวขอบคุณคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมมือทำงานควบคุมและป้องกันโรคจนได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศ โดยช่วงเช้านายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมรถตู้ตรวจเชื้อโควิด-19 (Mobile Swab Test) และนวัตกรรมต่างของศูนย์รวมนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่สามารถผลิตนวัตกรรมช่วยลดต้นทุนนำมาใช้งาน และยังมีการพัฒนาต่อยอดในอนาคตคาดว่าจะสร้างได้

โฆษก ศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวในที่ประชุมถึงการประกาศขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และสั่งการให้เตรียมความพร้อมในการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังการผ่อนคลายระยะที่ 4 โดยอาจนำพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ หรือกฎหมายอื่นมาใช้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของวาระที่สำคัญ คือการเสนอมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 นั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเนื่องจากเป็นกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางออกไปทางสูง ได้แก่ มาตรการคัดกรองไข้ อาการไอ เหนื่อยหอบ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการและรายงานหน่วยงานรับผิดชอบกรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ทุกกิจการและกิจกรรมจัดให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกสถานที่และเพิ่มมาตรการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทน และให้พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการพิจารณาวาระที่มีการเสนอให้มีการเปิดเรียนซึ่งเดิมเป็นวันที่ 1 ก.ค 2563 โดยยังให้คงวันดังกล่าวไว้เช่นเดิม แต่มีการหารือในประเด็นที่จะเลื่อนให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ ในบางส่วนบางโรงเรียน เช่น โรงเรียนห่างไกลพื้นที่ต่างจังหวัด และอัตราการเกิดโรคไม่ได้มาก และเป็นโรงเรียนที่ห้องเรียนมีจำนวนคนไม่มาก สมควรที่จะเปิดได้ก่อนหรือไม่ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชน ที่มีห้องเรียนน้อย จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่มากทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งในข้อสรุป คือยังยึดวันเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 เช่นเดิม แต่ถ้ามีความพร้อมเกิดขึ้นก่อนอาจจะสามารถขยับเร็วขึ้นได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยหลักการกว้าง ๆ ที่ ผอ.ศบค.ให้ไว้ อาทิ 1.ขนาดโรงเรียน สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ห่างไกล ไม่ได้มีอัตราการติดเชื้อสูง อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้นักเรียนได้รับการเรียน 2. หากเป็นพื้นที่ในเมืองต้องเดิน อาจสลับเหลื่อมเวลาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ ถ้าสามารถทำได้ จะทำให้ไม่แออัดกันมาก ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนด้วย โดยเน้นเฉพาะกลุ่มเด็กโต เนื่องจากเด็กเล็ก หากมาเรียน อาจจะมีความเสี่ยงเพราะอยู่ใกล้ชิดกัน นอนกลางวัน และเล่นกัน 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนโรงเรียนนานาชาติที่ข้อร้องมาว่า การเรียนที่จะต้องมีการเปิดเทอมขึ้นเร็ว เพราะให้ทันของกระแสโลก และการเรียนที่เป็นมาตรฐานของต่างประเทศนั้น ยังไม่มีข้อตกลง ว่าจะเป็นข้อสรุปอย่างไร โดยทั้งหมดได้มอบให้ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษารายละเอียดและหาข้อสรุปของแต่ละเรื่องมานำเสนออีกครั้งในการประชุม ศบค.ครั้งต่อไป และจะชี้แจงความชัดเจนต่อประชาชนอีกครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องกิจการชุดใหญ่ มีรายงานว่าที่ประชุมใหญ่ ศบค. มีมติผ่อนปรนปรับลดเวลาเคอร์ฟิวลง 1 ชั่วโมง จากเดิม 5 ทุ่มถึงตี 4 ปรับลดเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3 นอกจากนี้ ยังจะปรับเวลาปิดห้างสรรพสินค้า เป็น 21.00 น. ให้ร้านค้าต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดบริการได้เพิ่มเติม ผ่อนปรน ร้านนวดแผนไทย กลับมาเปิดให้บริการ ยกเว้นอบสมุนไพร ส่วนสถานเสริมความงาม สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ไม่ให้มีการอบไอน้ำ ด้านสนามมวย สถานบันเทิง ผับ บาร์ ไนต์คลับ และโรงเรียน จะอยู่ในการผ่อนคลายระยะที่ 4