“โอมิครอน” โผล่เชียงใหม่ 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยว “อังกฤษ-เยอรมนี” ติดตามผู้มีความเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก พบว่ามีชาวต่างชาติ 2 ราย ที่เดินทางมาจากอังกฤษและเยอรมนี ผ่านระบบ Test & Go พบว่าติดเชื้อโควิด-19 และคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้สามารถติดตามไทม์ไลน์และควบคุมได้แล้ว 

โดยขอแจ้งให้ประชาชนทุกคนทราบว่า มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามาในพื้นที่เชียงใหม่แล้ว แต่อย่าได้ตื่นตระหนก เพราะตอนนี้ได้สอบสวนและควบคุมโรคเรียบร้อยแล้ว

นายประจญ กล่าวต่อว่า ขอเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนเพิ่มความระมัดระวังตัวให้มากขึ้น และยังไม่มีการระบาดในพื้นที่แต่เป็นการระบาดจากต่างประเทศเข้ามา โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้รณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบโดยผ่านการประเมินจากทีมแพทย์ ซึ่งมาตรการทุกอย่างจะต้องเข้มงวดเหมือนเดิม โดยเฉพาะร้านอาหารต่างๆ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้

ด้าน นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งผลตรวจสายพันธุ์ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาผ่านระบบการคัดกรองแบบ Test & Go จำนวน 2 ราย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะทราบผลยืนยันในอีก 2 วัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นตั้งแต่ได้รับรายงาน

สำหรับผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 22 ปี เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 17 ธ.ค.64 ผลตรวจ RT-PCR ในวันแรกไม่พบเชื้อ ผู้ติดเชื้อรายนี้อยู่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค.64 และได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 20 ธ.ค.64 ด้วยสายการบินไลออนแอร์ SL510 ก่อนจะเข้าพักในคอนโดที่จองไว้ ย่านช้างคลาน และได้เดินทางไปเที่ยวในอำเภอแม่วาง (private tour) ในวันที่ 21 ธ.ค.64 เริ่มมีอาการผิดปกติ วันที่ 22 ธ.ค.64 จึงเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน พบว่าติดเชื้อ

จากผลการติดตามผู้สัมผัสของผู้ติดเชื้อรายแรก พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 18 ราย เสี่ยงต่ำ 7 ราย ขณะนี้ติดตามตัวได้ทั้งหมดแล้ว โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประกอบด้วย (1) ผู้สัมผัสในเที่ยวบิน ซึ่งเป็นผู้ที่นั่งอยู่ใน 2 แถวหน้า-หลัง และแถวเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ จำนวน 13 ราย อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 4 ราย ตรวจแล้วผลลบแล้ว 3 ราย และได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อในวันนี้อีก 1 ราย (2) พนักงานขับรถแท็กซี่ 1 ราย ผลตรวจรอบแรกเป็นลบ (3) พนักงานขับรถและไกด์นำเที่ยว 2 ราย อยู่ระหว่างการรอผลตรวจ (4) เพื่อนร่วมเดิมทางไปที่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 ราย ได้ติดตามเพื่อเข้ารับการตรวจวันนี้ (5) หมอนวด 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 7 ราย เป็นพนักงานร้านกาแฟ ผลตรวจเป็นลบ 6 ราย และอยู่ระหว่างรอผลอีก 1 ราย

ส่วนผู้ติดเชื้อรายที่ 2 เป็นชายชาวอังกฤษ อายุ 64 ปี เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 18 ธ.ค.64 ผลตรวจ RT-PCR ในวันแรกไม่พบเชื้อ ได้เดินทางต่อมายังจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 ธ.ค.64 ด้วยสายการบินไทยสไมล์ WE110 และเข้าพักที่บ้านเช่าใน อำเภอสันทราย ผู้ติดเชื้อรายนี้ได้ตรวจ ATK ด้วยตนเองในวันที่ 24 ธ.ค.64 พบผลบวก จึงเข้ารับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลดอยสะเก็ด ก่อนจะทราบผลติดเชื้อในเวลาต่อมา ขณะนี้รักษาตัวในโรงพยาบาลสันทราย

ทั้งนี้จากผลการติดตามผู้สัมผัสของผู้ติดเชื้อพบผู้สัมผัส ได้แก่ (1) เพื่อนที่ร่วมเดินทาง 3 ราย เข้ารับการตรวจแล้วทั้งหมด ผลเป็นลบ 2 ราย อีก 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ (2) ผู้สัมผัสในเที่ยวบิน WE110 ที่นั่งอยู่ 2 แถวหน้า-หลังและแถวเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลจากสายการบิน และ (3) พนักงานขับรถแท็กซี่ 1 ราย อยู่ระหว่างการติดตาม

พญ.เสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่เจอยังเป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่ง 2 รายนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาตามระบบ Test & Go เมื่อตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อจึงเดินทางมาต่อมายังจังหวัดเชียงใหม่ มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในทุกๆ แห่งที่ผู้ติดเชื้อมีประวัติเดินทางไป และแจ้งให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสุงทุกคนหยุดกิจกรรมทุกอย่าง และเข้ารับการตรวจ RT-PCR แล้ว ซึ่งบางรายผลออกมาเป็นลบ และบางรายอยู่ระหว่างรอผล โดยผู้ที่ผลตรวจรอบแรกเป็นลบจะต้องกักตัวจนครบ14 วัน และทำการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าเมื่อพบผู้ติดเชื้อทางสาธารณสุขสามารถดำเนินการและตรวจจับเชื้อ สวบสวนโรค ควบคุมโรคได้ทันที