

- เหลือเงินสะพัดแค่ 8.57 หมื่นล้านบาทต่ำสุดรอบ 12 ปี
- หลังหน่วยงานรัฐหลายจังหวัดเลิกจัดเคาต์ดาวน์-สวดมนต์ข้ามปี
- ถ้าเอกชนยกเลิกจัดงานฉลองปีใหม่อีกคาดเงินหายอีก 1 หมื่นล้าน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 65 ว่า คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ 30,000-50,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่จะอยู่ที่ 120,000-140,000 ล้านบาท ล่าสุด ผลสำรวจพบว่า การใช้จ่ายจะอยู่ที่ 85,700 ล้านบาท ติดลบ 6.2% จากปี 64 ที่มีการใช้จ่าย 91,467.47 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 54 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 89,046.13 ล้านบาท ส่วนอัตราขยายตัว ที่ติดลบ 6.2% นั้น เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากการใช้จ่ายเทศกาลปีใหม่ปี 64 ที่ติดลบ 33.6%
“มูลค่าใช้จ่ายเทศกาลปีใหม่ปี 65 ที่ 85,700 ล้านบาทนั้น เป็นกรอบที่คำนวณผลกระทบจากการที่หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยกเลิกกการจัดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่ และสวดมนต์ข้ามปี รวมทั้งยกเลิกTest & go 15 วันแล้ว แต่หากภาคเอกชนยกเลิกจัดกิจกรรมเคาต์ดาวน์อีก จะทำให้เม็ดเงินการใช้จ่ายหายไปอีก10,000 ล้านบาท”
สำหรับมูลค่าใช้จ่ายที่ 85,700 ล้านบาท แบ่งเป็น การเลี้ยงสังสรรค์ 10,027.81 ล้านบาท ทำบุญ 7,873.18 ล้านบาทซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 15,786.50 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 1,164.60 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,301.83 ล้านบาท ท่องเที่ยวในประเทศ 47,909.83 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 5,445.28 บาท และเที่ยวต่างประเทศ 1,732.74 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคน 21,508.32 บาท โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ลดลงต่ำสุดในรอบ 16 ปี เพราะคนยังกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาด และมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด จึงงดเว้นการท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบกับราคาทัวร์ลดลง ค่าบริการท่องเที่ยวในประเทศลดลง และมีโครงการเที่ยวด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโอมิครอนได้ภายใน 7 วันหรือไม่ เพราะหากควบคุมได้ อัตราการติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ที่ 1,000 คนต่อวัน ซึ่งจะทำให้ภายในไตรมาส 1 ปี 65 สถานการณ์จับจ่ายใช้สอยน่าจะดีขึ้น
สำหรับสิ่งที่ต้องการได้ของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด คือ บริหารประเทศอย่างโปร่งใส ปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังส่วนสิ่งที่น่าห่วงปี 65 คือ ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ การเมือง การแพร่ระบาดของโควิด ยาเสพติด คอรัปชัน ตกงานหนี้สิน ฯลฯ และเมื่อถามการขยายตัวเศรษฐกิจปี 65 มองว่า โตต่ำกว่า 2.5% และต้องการให้รัฐบาลดูแลค่าครองชีพรวมทั้งต้องการขยายมาตรการคนละครึ่งมากที่สุด รองลงมา คือ ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน
ส่วนการให้คะแนนการแก้ปัญหาของรัฐบาลในด้านต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมานั้น การแก้ปัญหาโควิด-19 ได้คะแนนมากสุดที่ 7.5 คะแนน จากเต็ม 10 ตามด้วย การเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ 7.2 คะแนน, แก้ปัญหาสังคม 6.6 คะแนน, แก้ปัญหาความขัดแย้ง 5.8 คะแนน, แก้ปัญหาคอรัปชัน 5.8 คะแนน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่ำสุดที่ 5.6 คะแนน หรือโดยรวมได้คะแนนเฉลี่ย 7.0 คะแนน