“โจ้ ยุทธพงศ์”ดักคอ”ส.ว.”อย่ามีธงโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 16 พฤศจิกายน นี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1.35 แสนคน เป็นผู้เสนอ ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนอเข้ามาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 64 เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือ ประชาชาผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยประธานรัฐสภา วินิจฉัยแล้วว่าร่างที่ประชาชนร่วมกันเสนอไม่มีหลักการต้องห้าม มีการเข้าชื่อครบตามที่กฎหมายกำหนด และมีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทำให้การยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วน และมีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนหลักการเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การเสนอยกเลิกบทบัญญัติหมวดที่ 7 รัฐสภา ซึ่งปัจจุบันเรามี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้เป็นหมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร เพียงสภาเดียว 2.การปรับโครงสร้างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีที่มาจากการเสนอชื่อจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ฝ่ายละ 3 รายชื่อ และ 3.การปรับโครงสร้างองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกระแสข่าวว่าส.ว.จะโหวตคว่ำร่างแก้ไขฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่องการยุบ ส.ว. ปัญหาคือการแก้ไขต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงอยากขอร้องส.ว.ที่มีธงจะโหวตคว่ำ ว่าขอให้ฟังการอภิปรายก่อนว่ามีเหตุผลอย่างไร ในส่วนของพรรคเพื่อไทย จะมีการประชุมพรรคในวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้ เวลา 15.00 น. เพื่อพิจารณาว่ามติพรรคต่อเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

“การเสนอให้ยกเลิก ส.ว. เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การเสนอแก้ไขครั้งนี้ถือว่าเป็นฉบับประชาชนจริงๆ และการให้ยกเลิกส.ว.เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เราต้องให้เกียรติการเสนอกฎหมายของประชาชน และรับฟังเหตุผลก่อนอย่าเพิ่งมีธง นอกจากนี้ ในร่างที่เสนอไม่ได้มีการล้มล้างหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.255 ซึ่งประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้ว อยากเรียกร้องส.ว.ฟังการอภิปรายในสภาก่อน เพราะครั้งนี้เป็นการแก้ไขที่เสนอโดยร่างของประชาชนที่แท้จริง” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ ยังแถลงถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาภาคอีสาน ว่า ตนไปคุยกับชาวนาพบว่า ข้าวหอมมะลิที่ตากแห้งแล้ว และมีคุณภาพดีมากขายได้เพียงกิโลกรัมละ 6 บาท วันนี้ถ้าชาวนาขายก็ขาดทุน จึงยังขายไม่ได้ และปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำนี้ส่งผลไปยังประชาชน วันนี้อาหารแพงประชาชนแทบไม่มีอะไรจะกิน รัฐบาลบอกว่าจะชดเชยราคาข้าวให้ชาวนา กิโลกรัมละ 15 บาท หรือเกวียนละ 15,000 บาท จากเดิมที่ขายได้กิโลกรัมละ 6 บาท หรือเกวียนละ 6000 บาท จำนวนไม่เกิน 14 ตัน ดังนั้น ถ้าราคาขายข้าวจริงๆได้เกวียนละ 6000 ชาวนาจะได้เงินชดเชยประมาณ 126,000 บาท แต่ที่ได้รับชดเชยจริงๆคือ 57,900 บาทต่อครอบครัว และที่สำคัญคือ ไม่มีเงินให้ จากเงินประกันราคาข้าวที่ต้องใช้ทั้งหมดจำนวน 89,000 ล้านบาทนั้น เพิ่งมีเงินจ่ายงวดแรกเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังขาดเงินกว่าอีก 7.6 หมื่นล้านบาท

“พวกผมในฐานะที่เป็นส.ส.ภาคอีสาน ขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ให้รีบหาเงินมาประกันราคาข้าวตามที่ท่านได้ประกาศเป็นนโยบายไว้ที่เกวียนละ 15,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว เงินช่วยบางพื้นที่ที่เกิดทุกภัยแล้วข้าวตาย ปัญหาที่เกิดจากภัยแล้ง ฯลฯ โดยจะต้องใช้ทั้งหมดประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งชาวนาก็ฝากผมมาเร่งรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือชาวนา” นายยุทธพงศ์ กล่าว