“โควิด” รอบใหม่ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.64 ดิ่ง



  • ลดลง 2 เดือนติด ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนจากเดือนพ.ค.63 
  • เหตุคนกังวลการระบาดกระทบต่อชีวิต การทำธุรกิจ 
  • จับตาโควิด-มาตรการเยียวยารัฐ-การเมืองบั่นทอนในอนาคต 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.64 อยู่ที่ระดับ 47.8 ลดจาก 50.1 ในเดือน ธ.ค.63 ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค.63  เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ในประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ลดจาก 43.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.1 ลดจาก 47.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.8 ลดจาก 59.2  

สำหรับปัจจัยลบ ที่มีผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือขยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาด 4.5%, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น, ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง 

“การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนม.ค.ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค.63 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิดในประเทศและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้” 

อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า จะเห็นภาพการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ. หรือเดือนมี.ค.นี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักสำคัญด้วย ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด, ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของรัฐบาลว่าจะมีผลพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ทั้งโครงการ เราชนะ, คนละครึ่ง และเรารักกัน แต่คาดว่า ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดทั้งไตรมาส 1 ปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส 2 จนกว่าโควิด-19 ในประเทศจะคลายตัวลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในกลางเดือนก.พ.นี้ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก