โควิดเป็นเหตุยอดขอรับส่งเสริมลงทุน ปี 2563 วูบทันที 30%



  • ยื่นขอรับส่งเสริมลงทุน 481,150 ล้านบาท
  • ปี 2564 ไม่ขอตั้งเป้า เล็งไว้ไม่ให้น้อยกว่าปีก่อน
  • ขยายเพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าตลาดหุ้นถึงสิ้นปี 2565

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า บอร์ดบีโอไอได้รับทราบภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,717 โครงการ เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้าหน้า แต่มีมูลค่าลงทุน 481,150 ล้านบาท ลดลง 30% จากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 691,390 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีการขอส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 190,000 ล้านบาท ถ้าหักในส่วนนี้ออก ในปี 2563 จะติดลบเพียง 7%

สำหรับในปี 2564 บีโอไอจะไม่ตั้งเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่มีความแน่นอนสูง เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี ทางบีโอไอก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะไม่ให้น้อยกว่าปี 2563 หรืออยู่ทีประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท

“อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตเพิ่มมาก ในปี 2563 ได้แก่กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าส่งเสริมการลงทุนถึง 50,300 ล้านบาท และการขอบีโอไอจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์ มีการลงทุน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นถึง 177% จากปี 2562 เป็นมูลค่าการลงทุน 22,290 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 165% ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมได้รับแรงขับเคลื่อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและถุงมือยางทางการแพทย์”
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็น48 %ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริม โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และสุดท้ายคือเทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท ส่วนการลงทุนของเอสเอ็มอี มีจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้น 20% มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 907 โครงการ มูลค่า 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน ลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ ลงทุน 24,555 ล้านบาท โดยจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียคือ การมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน วัตถุดิบและชิ้นส่วน

ส่วนการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีมีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุน 208,720 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 226 โครงการ ลงทุน 67,190 ล้านบาท จังหวัดระยอง 175 โครงการ ลงทุน 115,870 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 52 โครงการ ลงทุน 25,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค บริการพื้นฐานและการขนส่ง นอกจากนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 423 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ เช่น การผลิตถุงมือทางการแพทย์ และการผลิตอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบขยายมาตรการส่งเสริมบริษัทที่ได้รับบีโอไอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จากที่หมดเวลาไปเมื่อสิ้นปี 2563 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ถึงสิ้นปี 2565 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยในปีที่ผ่านมามีบริษัทที่ได้บีโอไอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพียง 5 รายเท่านั้น อาจจะต้องมีการทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ในการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ต่อไป”