“แท็กซี่-สามล้อ-วินมอไซค์” ได้เฮ! รัฐออก พ.ร.ฎ. ลดภาษีรถรับจ้าง มีผลบังคับใช้ 9 พ.ย.65



  • กำหนดให้ลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ
  • ที่ครบกำหนดเสียภาษีระหว่าง 1 ต.ค.65 ถึง 30 ก.ย.66 ลง 90% ของอัตราภาษีประจำปี
  • เผยรัฐมุ่งแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ช่วยลดต้นทุนการประกอบอาชีพ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ววันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้ลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปีในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ลง 90% ของอัตราภาษีประจำปี ท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 

เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบการรถสาธารณะทั้งรถยนต์รับจ้าง หรือแท็กซี่ รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการรถสาธารณะได้

สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ปรับลดลง ตัวอย่างมีดังนี้

รถแท็กซี่ น้ำหนักรถ 1,300 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 685 บาท ลดเหลือ 68.50 บาท/คัน

รถแท็กซี่ น้ำหนักรถ 2,000 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 1,060 บาท ลดเหลือ 106 บาท/คัน

รถยนต์สามล้อรับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 185 บาท ลดเหลือ 18.5 บาท/คัน

รถจักรยานยนต์สาธารณะ เดิมจัดเก็บภาษี 100 บาท ลดเหลือ 10 บาท/คัน

“รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการช่วยลดต้นทุนการประกอบอาชีพให้ต่ำที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาหนี้สิน เพื่อให้คนไทยพ้นจากความยากจนให้มากที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว