แจงคลายปมสับสน “ซอสพริกศรีราชา”

  • ทป.ยันใครก็จดเครื่องหมายการค้า”ศรีราชา”ได้
  • แต่ต้องใช้ประกอบกับข้อความอื่นหรือรูปภาพ
  • ย้ำถือสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ทุกคนมีสิทธิ์หมด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) เปิดเผยถึงกรณีมีคลิปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับซอสพริกศรีราชาของไทย และที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จนทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับการใช้ชื่อศรีราชาว่าเหตุใดคนต่างชาติจึงนำชื่อดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ว่า คำว่า “ศรีราชา” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ผู้ประกอบการสามารถใช้คำดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้ เช่น มีภาพ ชื่อ หรือข้อความประกอบกับคำว่าศรีราชา แต่ตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทยและต่างประเทศ คำว่า “ศรีราชา” เพียงคำเดียวโดดๆ ไม่สามารถรับจดทะเบียน และถือสิทธิ์เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวได้

ส่วนคำว่า Sriraja หรือ Sriracha ที่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ นั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหมายถึงซอสพริก หรือซอสที่มีรสเผ็ด และในสหรัฐฯ มีผู้ประกอบการผลิตซอสพริกนำคำว่า “Sriracha” พร้อมภาพโลโก้รูปไก่ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งเครื่องหมายการค้านั้นได้รับความคุ้มครองเพียงโลโก้รูปไก่เท่านั้น ไม่สามารถถือสิทธิ์ใช้คำว่า “Sriracha” แต่เพียงผู้เดียวได้ ผู้ประกอบการรายอื่น ก็สามารถใช้คำๆ นี้ยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าได้ และในไทย มีผู้ประกอบารนำคำนี้มาจดเครื่องหมายการค้าถึง 16 ราย

“ในไทยเอง มีผู้ประกอบการนำคำว่า “ศรีราชา” ไปใช้กับซอสพริกที่ตนเองผลิตหลากหลายยี่ห้อ และขายในราคาต่างกัน เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการนำคำว่า Sriracha ที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นชื่อสามัญ และหมายถึงอะไรที่มีรสจัด รสเผ็ด และได้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น ซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น จึงแสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของคำว่าศรีราชา และใช้ชื่อนี้แต่เพียงผู้เดียวได้”

อย่างไรก็ตาม ในไทยมีผู้ประกอบการจำนวนมาก นำคำสามัญอื่นๆ เช่น Bangkok , ภูเก็ต, สมุย เป็นต้น ซึ่งเป็นชื่อเมือง ชื่อทางภูมิศาสตร์ มายื่นจดเครื่องหมายการค้า และได้รับอนุญาตให้จดได้ แต่จะไม่สามารถถือสิทธิ์คำเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียวได้ และยังนำชื่อเมืองของประเทศต่างๆ มาจดอีก เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว เป็นต้น แต่ผู้จดก็ไม่สามารถถือสิทธิ์ได้เพียงผู้เดียว และในทางกลับกัน ชื่อที่เป็นของไทย เช่น ชื่อเมือง ชื่อทางภูมิศาสตร์ ก็อาจจะมีชาวต่างชาตินำไปยื่นประกอบการจดเครื่องหมายการค้า แต่ไม่สามารถถือสิทธิ์คำที่นำไปยื่นจดเพียงคนเดียวได้เช่นกัน