“เอ็กซิม แบงก์” ดันแฟรนไชส์ไทยรุกตลาด CLMV

  • นำร่องสินเชื่อตัวใหม่ หนุนซื้อ “แฟรนไชส์ไทย/เชนไทย”
  • ตั้งเป้าเฟสแรก 800 ล้านบาท ปล่อยกู้ทั้งนักธุรกิจไทย-คนท้องถิ่น 
  • เพิ่มทางเลือก ให้กู้ได้ 2 สกลุเงิน ทั้งสกุลดอลลาร์และบาทไทย

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล” ว่า ธนาคารได้ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน (เจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลในกลุ่มประเทศ CMLV ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ทั้งที่เป็นบริษัทคนไทยและคนท้องถิ่น กู้เงินเพื่อนำไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ซึ่งปัจจุบันมี 49 แบรนด์ที่เข้าดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จากทั้งหมดที่มีกว่า 584 แบรนด์ โดยส่วนใหญ่ที่ขยายธุรกิจไปยัง CMLV เป็นบริการอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นการศึกษาและนวดสปา

ทั้งนี้ ธนาคารจึงพัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย (Loan for Thai Franchise/Thai Chain Buyers)” วงเงินอนุมัติรวม 800 ล้านบาท  เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลากู้ยืม ไม่เกินระยะเวลาของสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์/เชน ในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ โดยหากเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับ LIBOR +3.50 % ต่อปี และสกุลบาทเท่ากับอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บ( Prime Rate) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6.125% ต่อปี ส่วนหลักประกันจะพิจารณาตามความเหมาะสม

“การขยายตลาดแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาธุรกิจและบริการภายใต้แบรนด์ของไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานใน CLMV รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดหวังบริการที่ดีและได้มาตรฐาน รวมทั้งต้องศึกษาโอกาสและกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือและมีความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ รวมทั้งมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์”

นอกจากนี้ธนาคารมองเห็นว่ากลุ่ม CLMV ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี มีรายได้ต่อหัวต่อปีและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า 5 ปีจากนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ต่อปี ส่วนในปัจจุบัน พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของกัมพูชาเติบโต 6.6% เมียนมา 6.7% ลาว 6.8% และเวียดนาม 6.5%  สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเกือบเท่าตัว ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของประชากรใน CLMV เพิ่มขึ้น 30% ในปี 2566