เอาละสิ!แล้งก็แล้งแถม8-9มกรานี้น้ำทะเลหนุนสูงอีก

กรมชลประทานเตรียมบริหารการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ควมคุมค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำทะเลหนุนสูงอีกระลอก 8-9 มกราคมนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานที่ 11 เตรียมแผนบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเครื่องมือเสริมในการควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร เสริมจากการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทและผันน้ำแม่น้ำแม่กลองมาผลักดันความเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งวันที่ 8-9 มกราคมนี้ โดยในช่วงน้ำทะเลลงจะเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อผลักดันน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาออก ส่วนช่วงน้ำทะเลขึ้นจะปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบันระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 85 ลบ.ม./วินาที โดยยังคงรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมไว้ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์มาสำรองไว้ที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว ซึ่งจะระบายมาเจือจางค่าความเค็มด้านท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองทางคลองจรเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลามายังแม่น้ำท่าจีนในอัตรา 25 ลบ.ม./นาที แล้วระบายผ่านคลองพระยาบันลือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมั่นใจว่าจะควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และการทำการเกษตรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้ายได้ 

นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าความเค็มอาจสูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น ซึ่งประสานกับการประปานครหลวง เพื่อให้งดสูบน้ำที่ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานีในช่วงน้ำทะเลขึ้น เมื่อน้ำทะเลลงและตรวจวัดค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร จึงสูบส่งมาต่อมายังโรงกรองน้ำบางเขนเพื่อผลิตน้ำประปาตามปกติ

สำหรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ระบายวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ปรับลดจากช่วงก่อนปีใหม่ที่ระบายวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสำรองไว้ควบคุมค่าความเค็ม จากนี้ไปจะคงการระบายที่ 18 ล้านลบ.ม./วันจนสิ้นสุดฤดูแล้งและต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน ส่วนการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วยมีแผนจะระบายตลอดฤดูแล้ง 500 ล้าน ลบ.ม.และระบายอีก 350 ลบ.ม. เพื่อให้มีมีน้ำอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะตกต่อเนื่อง

สำหรับที่เป็นห่วงว่าชาวนา 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังถึง 1.58 ล้านไร่ อาจส่งผลให้มีการดึงน้ำที่สงวนไว้สำหรับอุปโภค-บริโภคไปใช้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งล่วงหน้าว่าไม่มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งทำนาปรัง เนื่องจากมีแหล่งน้ำของตัวเอง เช่น บ่อบาดาล สระน้ำชุมชุน อีกส่วนหนึ่งปลูกโดยรับทราบความเสี่ยงว่าอาจประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้แจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเตือนโดยตลอด แต่ขณะนี้อัตราการปลูกเพิ่มลดลงแล้ว

“ขณะนี้นำเครื่องจักร-เครื่องมือ รถสูบน้ำไปประจำจุดที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมบริการทุกพื้นที่ โดยประชาชนที่เดือดร้อนสามารถแจ้งรับบริการหรือแจ้งปัญหาเรื่องน้ำได้ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขวิกฤติภัยแล้งของกรมชลประทานที่สายด่วน 1640 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายทองเปลว กล่าว