“เอลนีโญ” ทำผลผลิตเกษตรไทยปี 66/67 ลดฮวบ



  • ทั้งข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย-น้ำตาล
  • ดันราคาพุ่งหลังอินเดีย เวียดนาม อินโดห้ามส่งออก
  • พาณิชย์ตั้งวอรูมเกาะติดรับมือผลกระทบเชิงรุก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของเอลนีโญต่อภาคเกษตรไทยในปี 66 พบว่า ในภาพรวมเอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตเกษตรลดลง ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หากผลกระทบด้านผลผลิตที่ลดลงมีมากกว่าผลกระทบของราคาที่สูงขึ้น ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรลดลง 

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายสินค้า พบว่า ข้าว คาดผลผลิต ปี 66/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่พอเพียงสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออก ส่วนในด้านราคา ขณะนี้ ราคาข้าวตลาดโลก และของไทยเพิ่มขึ้น จากการที่อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวขาวชั่วคราว ขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง และกำหนดราคาเพดานส่งออกข้าวบาสมาติ รวมถึงเวียดนาม ลดปริมาณส่งออก  ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าผลผลิต ปี 66/67 จะลดลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตของไทยไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงต้องนำเข้าข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น การอำนวยความสะดวกการนำเข้าพืชอาหารสัตว์จะช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ แต่ก็ต้องสร้างความสมดุลให้ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศด้วย

ขณะที่สำปะหลัง คาดผลผลิต ปี 66/67 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศและส่งออก ส่งผลให้ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 66 มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ หดตัวตัว 17.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับปาล์มน้ำมัน คาดผลผลิตปี 66/67 จะลดลงจากสภาพอากาศร้อน และผลผลิตไม่ได้คุณภาพ แต่การที่อินโดนีเซียลดการส่งออก ส่งผลให้ราคาตาดโลกสูงขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย แม้ในช่วง 7 เดือนปี 66 มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทย หดตัว 37.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลไม้ คาดทุเรียนและมังคุดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่ลำไยจะมีผลผลิตลดลง จากภัยแล้งและลดพื้นที่ปลูก แต่จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทยยังมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่วง 7 เดือนปี 66 มูลค่าการส่งออกผลไม้สด โตถึง 17.8% และน้ำตาล คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 66/67 จะลดลงแต่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น จากการที่อินเดียห้ามส่งออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย สำหรับช่วง 7 เดือนปี 66 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ขยายตัว 17.7%

“เอลนีโญไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร แต่ยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ปศุสัตว์ นอกจากนี้ ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งวอร์รูมรับมือกับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อพืชเกษตรแล้ว สำหรับผู้ประกอบการ ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุมเพื่อบรรเทาผลกระทบ”