เอกสารประชุมหลุด! ค้านฉีด “ไฟเซอร์”เข็ม 3 ให้บุคลากรแพทย์ ชี้เท่ากับรับ “ซิโนแวค”ไร้ประสิทธิภาพ



  • คาดเข้าไทย ก.ค.นี้ จำนวน 1.5 ล้านโดส
  • เห็นชอบให้ฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์
  • ในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง คือ กทม. และปริมณฑล

วันที่ 4 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารผลการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อ 30 มิ.ย ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่ประเทศไทยเดือน ก.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส ให้เน้นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคในพื้นที่ระบาด และปัดตกข้อเสนอให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีบางส่วนกังวล ถ้าต้องยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคสองเข็มไม่มีผลในการป้องกันโควิด-19

ทั้งนี้เนื้อหาเอกสารดังกล่าวระบุว่า คาดว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส และในไตรมาสที่สี่ รวม 20 ล้านโดส

จากเอกสารดังกล่าว พบว่า มีการจัดทำข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีน ว่าควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลสามกลุ่ม คือ

1.บุคคลอายุ 12-18 ปี
2.กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
3.ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นหลายแนวทาง บางส่วนเห็นว่า ควรให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ และเน้นแก้ปัญหาที่พื้นที่ระบาดก่อน บางส่วนเห็นว่า กลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี ยังสามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้

สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น ในที่ประชุมส่วนหนึ่งเห็นด้วยว่า เพราะบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังสำคัญ ที่ปัจจุบัน แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดหลายราย แต่ก็มีความเห็นบางส่วนที่เห็นว่า ถ้านำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ อาจถือเป็นการยอมรับว่า วัคซีนซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น

ทั้งนี้มติที่ประชุม จึงสรุปแนวทางการใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ก.ค. – ส.ค. 64 ระบุว่า เห็นชอบควรให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับระยะแรก จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง คือ กทม. และปริมณฑล