เอกชนอ้อน “ลุงตู่”ยืดจ่ายใบอนุญาต 5G อ้างเหตุโควิด-19 ระบาด



  • ลุ้น กสทช.พิจารณาก่อนฟันธงกันอีกครั้ง
  • ติดตามความคืบหน้าลงทุน 5G ของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้เสนอขอยืดระยะเวลาในการชำระค่าใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม 5G เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชนในช่วงที่ประสบกำลังประสบปัญหาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) รับข้อเสนอนี้ไปพิจารณาว่าจะสามารตอบสนองได้อย่างไรบ้าง แล้วให้นำมาเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ การประมูลคลื่น 5G มีจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด 48 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 100,521 ล้านบาท เป็นคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ 3 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 51,460 ล้านบาท คลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ 19 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 37,434 ล้านบาท และ คลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ์ 26 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 11,627 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ร่างแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป รวมทั้งเห็นชอบการขยายผลการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G คือ โครงการนำร่องด้านคมนาคมสถานีอัจฉริยะ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของอาเซียน โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 70 ล้านบาท

ส่วนด้านการศึกษา โครงการนำร่องสมาร์ต แคมปัส ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 25 ล้านบาท ด้านการเกษตร โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล เพื่อการพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางและปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 50 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G สำหรับการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดอุดรธานี โดยให้ปิดทองฯ ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 40 ล้านบาท

ขณะที่ด้านอุตสาหกรรม โครงการนำร่องโรงงานอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โรงงานในเครือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ พีทีที จีซี โดยให้พีทีที จีซี ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 25 ล้านบาทซึ่งอยู่บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และด้านเมืองอัจฉริยะ โครงการนำร่องบ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้ โดยนายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนและต่อยอด 5G ของไทยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และเน้นสร้างการรับรู้กับประชาชนให้มากขึ้นให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เป็นการประชุมเพื่อดูภาพใหญ่ทั้งหมด ในการดำเนินการเรื่องโครงสร้าง การร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย นักวิจัยต่างๆ ซึ่งเครือข่าย 5G ที่สำเร็จแล้วในระดับหนึ่งที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ก็เป็นที่น่าพอใจ ตนเองจะลงไปตรวจเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีอีซี