เศรษฐกิจไทยปี 63 กรณีเลวร้าย

ในการประมาณการเศรษฐกิจว่าจะเป็นไปอย่างไรในแต่ละปี หน่วยงานวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจทุกแห่ง มักจะประมาณการเผื่อไว้ใน 3 กรณี คือ กรณีฐาน ซึ่งเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด กรณีที่ดีกว่าที่คาด และกรณีเลวร้าย 

ขึ้นกับปัจจัยบวกและความเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากปัจจัยใหม่ๆ ที่ไม่ได้คำนวณไว้ในประมาณการครั้งนี้

โดยตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ที่นำออกมาโชว์ให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นแนวทางการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และใช้ชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นกรณีฐาน หรือเป็นค่ากลางเฉลี่ยระหว่างกรณีที่ดีที่สุด และกรณีเลวร้าย 

ขณะที่ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยของหลายๆ หน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชน ในประเทศและต่างประเทศ ของปี 63 ทั้งปีในขณะนี้ ตัวเลขที่ดีที่สุดที่มีการประมาณการออกมา อยู่ที่ประมาณ -5% กว่าๆ และกรณีที่แย่ที่สุดอยู่ที่ใกล้ๆ -9%

โดยตัวเลขที่น่าสนใจที่สุด น่าจะเป็นตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ล่าสุดปรับลดลงเป็นครั้งที่  2 แล้วปีนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 

คาดกันว่า ค่ากลางหรือค่าที่เป็นไปได้มากที่สุด เศรษฐกิจไทยที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี จะลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน -8.1%  ซึ่งถือเป็นตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าว ธปท.ยอมรับว่า จากการคำนวณกราฟการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังอยู่ใน “ภาวะเบ้ต่ำ” หรือมีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจริงจะต่ำกว่าประมาณการที่คาดไว้ในครั้งนี้ได้

ขนาดเศรษฐกิจกรณีฐานยังย่ำแย่ คงมีคำถามว่า กรณีเลวร้าย จะเลวร้ายแค่ไหน ในบทความหนึ่ง ในรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือน มิ.ย. ได้ชี้ถึง worst case scenario หรือเศรษฐกิจกรณีเลวร้าย และการประมาณการเศรษฐกิจกรณีฐาน ว่าภาพที่เห็นจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในกรณีฐาน สะท้อนว่า แม้เศรษฐกิจจะได้รับแรงกระตุ้นขนานใหญ่จากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งที่จะกลับไปที่อยู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ 

เนื่องจาก income shock (การขาดรายได้ หรือรายได้ที่ลดลง) ส่งผลกระทบยาวนานต่อฐานะการเงินภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคธุรกิจต้องปรับรูปแบบกิจการให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิตใหม่ (new normal) ของประชาชนที่คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จนกว่าจะมีวัคซีนและยารักษาอย่างทั่วถึง

ดังนั้น ในระยะถัดไป หากไทยสามารถควบคุม การระบาดได้และรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดมากขึ้นๆ  หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามกรณีฐาน นโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ระดับก่อนการระบาด โดยเฉพาะนโยบายการคลังและนโยบายด้านอุปทาน (supply-side policy) ควบคู่กับมาตรการการเงินและสินเชื่อ 

โดยเส้นกราฟของการขยายตัวในกรณีฐาน สำหรับเศรษฐกิจปี 63 ของไทย จะเป็นเหมือนสัญญาลักษณ์ “ขีดถูก” โดยเศรษฐกิจจะลงลึกที่สุด เป็นหัวของเครื่องหมายถูกใน ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และดีดตัวขึ้นในลักษณะชันน้อยๆ แบบหางของเครื่องหมายถูกตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในกรณีเลวร้าย (worst case scenario) ผลกระทบจะรุนแรงกว่ากรณีฐาน โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชะลอไปีก ยังไม่หดตัวสูงสุด หรือแตะจุดต่ำสุด ในช่วงไตรมาสที่ 2  อย่างที่หลายหน่วยงานประมาณการกันไว้ 

แต่จุดต่ำสุด จะต่ำลงอีกระยะในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี และซึมยาวๆ ไม่สามารถค่อยๆ ฟื้นกลับมาสู่อัตราเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในระยะปานกลาง 

ปัจจัยลบเกิดขึ้นจาก ปัจจัยต่างประเทศ เช่นการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกทั้งรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงและยาวนานขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากขึ้น 

ขณะที่หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ในไทย จะทำให้เกิดความเป็นไปไปด้าน ที่รัฐบาลกลับมาใช้มาตรควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้งและทำให้ชะลอการฟื้นฟู โดยไม่สามารถจัดทำระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble)ระหว่างประเทศต่อประเทศ ได้ไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว

นอกจากนั้น หากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้น ความเสียหายอาจไม่ได้จำกัดเฉพาะผลกระทบในระยะสั้น แต่ยังอาจส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจ (economic scars) แม้ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว 

โดยมีผลให้ระดับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะยาว (potential growth) ลดลง และอาจเกิดจากความเสี่ยงทั้งในภาคเศรษฐกิจและในระบบการเงิน  โดยสิ่งที่เราจะเห็น คือ 

1.ธุรกิจบางส่วนอาจล้มละลายและปิดกิจการถาวร ขณะที่ธุรกิจที่อยู่รอดอาจตัดสินใจลดหรือชะลอการลงทุน 

2.ธุรกิจจจำนวนมากลดการจ้างงาน ส่งผลให้แรงงานอาจหางานใหม่ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหากขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในสาขาอื่น 

3. ธุรกิจและครัวเรือนผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินเป็นวงกว้าง จนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้นมากและอาจทำให้เงินกองทุนและเงินกันสำรองของสถาบันการเงินไม่พอรองรับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ในระยะข้างหน้า 

หากเกิดขึ้นจริงทั้ 3 กรณีเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในฐานะที่สาหัสทีเดียว และจะไม่ใช้ผลกระทบระยะสั้น แต่จะส่งผลกระทบเป็นวงจรย้อนกลับเชิงลบจากระบบการเงิน (macro-financial negative feedback loop) และวนมาที่ระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้

โดยรูปภาพเส้นกราฟของการขยายตัวในกรณีเลวร้าย สำหรับเศรษฐกิจปี 63 จะแตกต่างจากกรณีฐาย โดยจะเปลี่ยนจุดต่ำสุด จากไตรมาสที่ 2 ของปีีนี้ ลดลงไปต่ำลงไปต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 ของปี และผงกขึ้นเล็กๆ โดยภาพรวมการฟื้นตัวจะเป็นรูปตัวแแอล L 

ทั้งนี้ ธปท.ระบุด้วยว่า หากเราเข้าสู่ “กรณีเลวร้าย” ภาครัฐเน้นช่วยเหลือมิติที่จะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ธุรกิจและครัวเรือนอย่างกว้างขวาง รวมทั้ง ภาคส่วนที่มีตัวทวีคูณหรือมีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ในเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้ง หาทางยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศให้กลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

โดยสิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ  1.ป้องกันไม่ให้ปัญหาทางเศรษฐกิจลุกลามไปสู่ระบบการเงิน ทั้งตลาดการเงินและระบบสถาบันการเงิน 

2. ปรับโครงสร้างประเทศ ออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ ทุน และแรงงาน ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่หลังการระบาด 

3.เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ค้างอยู่จำนวนมาก 4.สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน (reskill and upskill) เพื่อรองรับการจ้างงานในธุรกิจกลุ่มเป้าหมายและปรับตัวเข้าสู่บริบทเศรษฐกิจใหม่หลังการระบาดคลี่คลาย และ 5.เร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ใหม่

ซึ่งการดำเนินมาตรการจำเป็นต้องอาศัยการประสานนโยบายสาธารณสุข มาตรการการคลัง มาตรการการเงินและสินเชื่อ รวมถึงนโยบายสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้เหมาะสมกับการระบาดของโรคในแต่ละช่วงเวลา

ฟังดูเลวร้าย แต่อย่างที่ใครสักคนพูดไว้ว่า สถิติมีไว้ทำลาย และกรณีเลวร้าย มีไว้ให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ถ้าเรารู้หลัก ป้องกัน และลงทุนไปกลุ่มหลักๆ ไว้ให้พอ ปิดเมืองรอบ 2 น่าจะไม่ใช่เหตุการณ์ที่ประเทศไทยทำ