เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ! “ประสาร”แนะนักลงทุนติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยง

แฟ้มภาพ
  • ทั้งภูมิรัฐศาสตร์
  • การเมืองในประเทศ
  • แบงก์ SVB ล้มในสหรัฐฯไม่กระทบวงกว้าง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘WEALTH CLUB 2023: RISING IN RECESSION พุ่งทะยานในความถดถอย’ ที่จัดโดย THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ คือเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในระยะสั้นจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่ดูเหมือนจะเริ่มผ่อนคลายลง ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศก็ยังมีความดื้อไม่ยอมลดลงมาง่ายๆ เช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่สบายใจที่จะลดดอกเบี้ย

โดยเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดถึง 9.1% ในช่วงกลางปี 2022 แล้วเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ยังค่อนข้างสูงอยู่ที่แถวๆ 6% ในต้นปี 2023 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% ทำให้มุมมองที่ตลาดเคยมีว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ดูเหมือนจะเป็นมุมมองที่ Over-optimistic หรือมองบวกเกินไป

ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่ได้ปรับลดลงเร็ว และดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อกว่าคาดและเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้เพียง 2.9% ในปี 2023 จากที่เคยเติบโตได้ 6% ในปี 2021 และลดลงเหลือ 3.4% ในปี 2022 ส่วนการกลับมาเปิดประเทศของจีนในช่วงต้นปี 2023 ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและส่งผลดีต่อหลายๆ ประเทศ

“ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ล่าสุดก็มีคนถามผมว่าเหตุการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐฯ จะลุกลามหรือเปล่า ผมไม่มีข้อมูลเชิงลึก แต่เข้าใจว่าปัญหาเกิดจากการได้รับผลกระทบจากราคาสินทรัพย์ นำไปสู่การมีปัญหาสภาพคล่อง เรื่องนี้คงต้องติดตามต่อ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด ไม่ลุกลามในวงกว้าง เพราะธนาคารดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินใหญ่อื่นๆ มากนัก” 

สำหรับเศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ 2.7-3.7% ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่เติบโตได้ 2.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนอาจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้มีแรงขับเคลื่อนจากการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

สำหรับตลาดทุนไทยได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดเช่นเดียวกัน โดยสรุปความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตามในปีนี้จะมี 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

  1. ความไม่แน่นอนในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่เชื่อมโยงกับการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ และการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์หรือ Deglobalization ซึ่งตึงเครียดมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว
  2. เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้ง และนำไปสู่ความต่อเนื่องหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป จึงน่าติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ รวมทั้งที่อาจเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเงินการลงทุน
  3. ประเด็นด้านเศรษฐกิจโลกก็กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง การปรับท่าทีของธนาคารกลางในการจัดการกับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลง รวมทั้งการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่น่าจะส่งผลเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในด้านความเชื่อมโยงในซัพพลายเชน และผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ
  4. ประเด็นด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) ที่มีความน่าสนใจและอาจเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU