

- มูลค่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ ติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติด
- “จุรินทร์” ลั่นแม้ติดลบแต่ม 11 เดือนทำได้ 9.1 ล้านล้านบาท
- ทะลุเป้าหมายทั้งปี 65 ที่คาดสร้างรายได้ 9 ล้านล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่าเดือนพ.ย.65 การส่งออกมีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 6% เทียบกับเดือนพ.ย.64 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนต.ค.65 ที่ติดลบ 4.4% ด้วยมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญฯ เมื่อคิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 846,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% ส่วนการนำเข้ามูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 5.6% กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากเดือนต.ค.65 ที่ติดลบ 2.1% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 907,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,342.3 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 60,952 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าส่งออกช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 65 อยู่ที่ 265,349.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7.6% เทียบช่วงเดียวกันปี 64 เมื่อคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 9.167 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% การนำเข้า 280,438 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น16.3% คิดเป็นเงินบาท 9.823 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ขาดดุลการค้า 15,088.9 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล655,879 ล้านบาท

“แม้เดือนพ.ย.65 มูลค่าส่งออกติดลบ 6% แต่ยังสูงกว่ามูลค่าส่งออกเดือนต.ค.65 อยู่ถึงประมาณ 45,000 ล้านบาทและสร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 846,190 ล้านบาท ที่สำคัญมูลค่า 11 เดือน ทำได้แล้ว 9.167 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายทั้งปี 65 ที่คาดจะทำได้ 9 ล้านล้านบาท ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 66 ขณะนี้ยังไม่ได้ตัวเลขที่เป็นข้อสรุปสุดท้าย ต้องรอดูตัวเลขของเดือนธ.ค.นี้ก่อน”
สำหรับการส่งออกเดือนพ.ย.65 เมื่อแยกเป็นหมวดสินค้า พบว่า หมวดสินค้าเกษตร แม้ติดลบ 4.5% แต่สร้างรายได้เข้าประเทศ 75,299 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลง คือ ยางพาราเพราะความต้องการใช้ถุงมือยางในจีนและมาเลเซียลดลง จากโควิดที่ผ่อนคลาย ส่วนช่วง 11 เดือน ขยายตัว 3.5% สร้างรายได้เข้าประเทศ 852,391 ล้านบาท, หมวดอุตสาหกรรมการเกษตร เดือนพ.ย.65 ขยายตัว 1% สร้างรายได้ 66,234 ล้านบาท ส่วน 11 เดือน ขยายตัว20.6% สร้างรายได้ 732,685 ล้านบาท และสินค้าอุตสาหกรรม เดือนพ.ย.65 ติดลบ 5.1% แต่ยังสร้างรายได้678,318 ล้านบาท และช่วง 11 เดือน ขยายตัว 6.5% สร้างได้ 7.203 ล้านล้านบาท
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. อิรัก เพิ่ม 215.6%, บาห์เรน เพิ่ม 153.1%, ซาอุดิอาระเบีย เพิ่ม 40.1%, สหราชอาณาจักร เพิ่ม 22.2%, ลาว เพิ่ม 21.3%, เบลเยียม เพิ่ม 11.4%, เม็กซิโก เพิ่ม10.5%, เมียนมา เพิ่ม 3.7%, สหรฐัฯ เพิ่ม 1.2% และอินเดีย เพิ่ม 0.7%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า ยังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และอาจกระทบต่อกำลังซื้อของทั่วโลก ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ และทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันต่อค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ จีน-ไต้หวัน ที่ทำให้เห็นว่า การแบ่งขั้ว แบ่งข้างในโลกยังมีอยู่ และอาจนำมาซึ่งการกีดกันการค้า ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือในอนาค
สำหรับกรณีที่จีนประกาศเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 และผ่อนคลายมาตรการซีโร่ โควิดนั้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะจะมีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ ที่คาดว่า จะส่งออกได้มากขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แม้มูลค่าเดือนพ.ย.65 ติดลบ แต่ภาคเอกชนไทยยังทำได้ดี เพราะยังสร้างรายได้เข้าประเทศได้สูงถึงกว่า 800,000 ล้านบาท อีกทั้งการส่งออกไทยได้ติดลบประเทศเดียว ยังมีอีกหลายประเทศ ที่ติดลบเช่นกัน เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างชัดเจน เช่น เกาหลีใต้ ติดลบ 14% ไต้หวัน ติดลบ 13.1% จีน ติดลบ 9.2% เป็นต้น ส่วนเดือนธ.ค.65 คาดว่าน่าจะยังชะลอตัว เพราะเทียบกับฐานของเดือนธ.ค.64 ที่สูงมาก โดยทำมูลค่าได้ถึง25,419 ล้านเหรียญฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์