

- เรียกร้องประชาชนอยู่ในความสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ
- ยันยูเอ็น-สหรัฐฯยังเป็นมิตรที่ดีและหนุนเฮติให้ปลอดภัย
- ขณะที่ “สตรีหมายเลข 1” เสียชีวิตจากเหตุลอบสังหารแล้ว
เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์ประณามเหตุลอบสังหารนายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ
นายสเตเฟน ดูจาร์ริค โฆษกยูเอ็น กล่าวว่า นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ชาวเฮติอยู่ในความสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังคงมีเอกภาพท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการก่อความไม่สงบ โดยยูเอ็นจะยังคงยืนเคียงข้างรัฐบาลและประชาชนชาวเฮติ
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีเฮติเช่นกัน โดยระบุว่า “เรารู้สึกช็อกและเศร้าใจต่อข่าวการลอบสังหารนายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ และนางมาร์ตีน โมอิส สุภาพสตรีหมายเลข 1 เราขอประณามการกระทำที่น่ารังเกียจในครั้งนี้”
พร้อมกันนั้น ประธานาธิบดีไบเดน ยังได้แสดงความเสียใจต่อชาวเฮติ และย้ำว่า สหรัฐฯจะยังคงให้การสนับสนุนเพื่อให้เฮติมีความปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลกได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน
ด้านนายโคลด โจเซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ แถลงในวันนี้ (8ก.ค) ว่า คณะรัฐมนตรีของเฮติมีมติประกาศกฎอัยการศึก หลังเกิดเหตุลอบสังหารนายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ เมื่อคืนนี้
“หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน เราได้ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ นายโจเซฟยังเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมใจกันปกป้องประชาธิปไตย และย้ำว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุลอบสังหารจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ ขณะที่นางมาร์ตีน โมอิส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้เสียชีวิตแล้วเช่นกัน หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอาการบาดเจ็บสาหัสหลังเหตุลอบสังหารดังกล่าว
นายโจเซฟ ยังเรียกร้องให้ประชาชนชาวเฮติอยู่ในความสงบ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพเฮติยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในขณะนี้
ทั้งนี้ นายโฌเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ ถูกกลุ่มมือปืนบุกสังหารถึงในทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวง เมื่อช่วงเช้ามืดวันพุธที่ 7 ก.ค. 64 โดยที่ภริยาาถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส
นายโมอิส เป็นผู้นำเฮติ หนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 60 และต้องเผชิญการประท้วงหลายครั้ง เพราะประชาชนบางส่วนต้องการให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการคอรัปชัน ซึ่งกลุ่มฝ่ายค้านระบุว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงในประเทศสูงขึ้น ความเป็นอยู่ของประชาชนย่ำแย่ลง
นอกจากนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา ยังเกิดข้อพิพาทเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโมอิส ซึ่งควรจะครบ 5 ปีไปแล้วหากนับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่นายโมอิสยืนกรานว่า เขายังเหลือวาระอีก 1 ปี จนเกิดการประท้วงขับไล่อีกระลอกตั้งแต่ต้นปี 64
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนายโมอิส ทำให้การปกครองของเฮติเกิดความไม่แน่นอนอีกครั้ง เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่า ใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะตัวเลือกลำดับ 1 เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว