เร่งเคลียร์หนี้เคลมประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ”​  

  • ปรับระบบการจ่ายเงิน
  • จ้างพนังงานพิเศษมาพิจารณา
  • เพราะมีผู้เอาประกันรอรับเงินเคลมจำนวนมาก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ  ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(บอร์ดคปภ.)​ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้คปภ.เร่งรัดจัดหาแหล่งเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนประกันวินาศภัย  ขณะเดียวกันได้เร่งรัดให้กองทุนประกันวินาศภัย จัดทำระบบการจ่ายเคลมประกันโควิด  “เจอ จ่าย จบ” ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น  สำหรับบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยขณะนี้ได้ทยอยจ่ายให้กับผู้เอาประกันไปแล้ว 5,000 ราย จากที่ยื่นเข้ามาขอเคลมประกันกว่า 10,000 ราย 

สำหรับสาเหตุความล่าช้านั้น เนื่องจากกองทุนประกันวินาศภัยขาดบุคลากรในการดูแลเรื่องนี้  ดังนัั้นจึงเร่งรัดให้ดำเนินการ ด้วยการจ้างเอกชนที่มีความชำนาญที่มีระบบการจ่ายเคลมประกันเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้การจ่ายเคลมประกันได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันพิจารณาจ่ายเงินได้เดือนละ 300 ราย  หากปรับและเพิ่มระบบ คาดว่าจะช่วยให้การจ่ายเคลมได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รายต่อเดือน 

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า  ปัจจุบันกองทุนประกันนาศภัย มีเงินกองทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท  ซึ่งขณะนี้ยังเพียงพอที่จะจ่ายเคลมประกันโควิด เนื่องจากเป็นการทยอยจ่าย  แต่ในอนาคตต้องเพิ่มเงินในกองทุนฯ เพราะไม่เพียงพอต่อการจ่ายเคลมประกันโควิด เพราะมีผู้ขอเคลมจำนวนมาก  คิดเป็นวงเงินหลายหมื่นล้านบาท  ซึ่งวิธีการเพิ่มเงินกองทุนนั้น ได้มอบหมายให้คปภ.ไปเร่งดำเนินการ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะการกู้เงินจากคปภ. กู้จากสถาบันการเงิน หรือ การออกพันธบัตร 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทประกันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไป 4 บริษัท อันได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) , บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งหาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ หรือ ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทประกันภัยถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต 

ทั้งนี้หลังจากที่กองทุนประกันวินาศภัยเปิดให้เจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มายื่นคำร้องขอรับการชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งปิดรับคำขอเมื่อวันที่ 15ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้มายื่นคำร้อง  700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 65,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินสะสมเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงไม่รู้จะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายให้ผู้เอาประกันและเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง