

- เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค
- บุคลากรทางการแพทย์ก่อนจากนั้นเป็นผู้สูงอายุ
- ตั้งเป้าฉีดให้คน 2 กลุ่มภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ญี่ปุ่นเริ่มต้นฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในวันพุธนี้ (17 ก.พ.) โดยเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้แก่แพทย์ พยาบาล ที่ศูนย์การแพทย์แห่งชาติโตเกียวเป็นลำดับแรก
ด้านนายยามาโมโตะ ฮิโรชิ รมว.สาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ กล่าวว่า การเริ่มต้นฉีดวัคซีนในประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะรับฟังปัญหาจากบุคลากรทางการแพทย์ และเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายฉีควัคซีนให้แก่แพทย์ พยาบาล 3.7 ล้านคน ในกลางเดือนมี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ในเดือนเม.ย.นี้
สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการใช้งานวัคซีนของไฟเซอร์ ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเทค ของเยอรมนีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค รวมถึงแอสตราเซเนกา และโมเดอร์นา 314 ล้านโดส สำหรับฉีดให้ประชาชน 157 ล้านคน เพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาติดขัดบางประการ ด้วยมีความกังวลว่าอาจเสียวัคซีนของไฟเซอร์จำนวนหลายล้านโดส เนื่องจากขาดแคลนเข็มฉีดยาที่จำเป็นสำหรับแบ่งวัคซีนบรรจุขวดออกเป็นแต่ละโดส โดยีรายงานว่า เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ไฟเซอร์ พิปรับเปลี่ยนปริมาตรการบรรจุวัคซีนในแต่ละขวด จากเดิมที่ให้ฉีดได้ขวดละ 5 โดส เป็น 6 โดส และจำเป็นต้องเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ วัคซีนที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทค สามารถฉีดได้ขวดละ 5 โดส โดยเมื่อถูกทำให้ละลายแล้ว แต่ละขวดจะถูกเจือจางด้วยน้ำเกลือปริมาตร 1.8 มิลลิลิตร ทำให้วัคซีนหลังผสมมีปริมาตร 2.25 มิลลิลิตร และแบ่งฉีดโดสละ 0.3 มิลลิตร ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสามารถฉีดได้เกิน 7 โดสด้วยซ้ำ
แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่า บุคลากรการแพทย์ไม่สามารถคำนวณปริมาตรยาได้อย่างแม่นยำ เพื่อทำให้ครบทั้ง 7 โดส และฉีดให้ครบพอดีคน แต่หากมีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ก็สามารถฉีดได้ใน 6 ครั้ง