เมื่อ “ข้อมูลการเงิน” กลายเป็นเรื่องสนุก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ “digital transformation” หรือ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล และบิ๊ก ดาต้า มาปรับกระบวนการภายใน ปรับกระบวนการทางธุรกิจ วางกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อปรับเข้าหาวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้กลายเป็น “วัฒนธรรมใหม่ของแทบทุกองค์กร” 

ขณะที่คนทั่วโลก ให้ความสำคัญของ “ข้อมูลดิจิทัล” มากขึ้น ทั้งการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วเดิมเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูลออกไปและนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น  รวมทั้งสามารถลดต้นทุนขั้นตอนในการเดินทางหรือส่งเอกสาร นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบออนไลน์ เช่น ข้อมูลการซื้อขายสินค้า และบริการผ่านระบบ หรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์ทั้งหลาย

และข้อมูลดิจิทัลที่หลั่งไหล และหาได้ง่ายขึ้นเหล่านี้ ช่วยทำให้คนธรรมดาๆ ร้านค้าเล็กๆ สามารถเรียนรู้เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคในโลกปัจจุบันชัดเจนมากขึ้น   ขณะเดียวกัน บริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงใจผู้บริโภคได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา

ในโลกอนาคตอีกไม่ไกลนี้ เราอาจจะสามารถรู้ข้อมูลของ “คนหนึ่งคน” แบบละเอียด ผ่าน “บัตร” ใบเดียว ทั้งหน้าตาข้อมูลสุขภาพ ความสนใจ งานอดิเรก สีที่ชอบ ร้านอาหารที่โปรดปราน ฯลฯ  และมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตมากขึ้นๆ เรื่อยๆ 

แต่สำหรับ ข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบันที่น่าสนใจมาก และภาคธุรกิจสามารถที่จะสนุกไปกับการวางแผนงานต่างๆ ผ่านข้อมูลนี้ได้ข้อมูลหนึ่ง คงหนีไม่พ้น “ข้อมูลด้านการเงิน” ซึ่งสะท้อนตัวตน และความสนใจของ”คน” หรือ “ผู้บริโภค” ในปัจจุบันนี้ 

วันนี้ เรามาสนุกกับข้อมูลของ ดร.ฐิติมา ชูเชิด  ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รวบรวมข้อมูลทางการเงินในโลกดิจิทัลไว้กัน

เริ่มต้นจาก กระแสดิจิทัล แบงก์กิ้ง จากรายงานการสำรวจของบริษัท McKinsey ปี 2564 ชี้ว่า ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ใช้ digital banking เพิ่มขึ้นมากจาก 55% ในปี 2560 เป็น 88% ในปี 2564  ซึ่งเป็นสัดส่วนนี้เข้าใกล้พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ค่อนข้างอยู่ตัวราว 90% 

แสดงให้เห็นว่า วันนี้คนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับ digital banking มากขึ้นกว่าเดิมมาก และแม้ว่า โควิด-19 จะจบลงในอนาคต คนกลุ่มนี้ก็ยังจะยังคงใช้ digital banking ในระดับสูงเช่นนี้อยู่ต่อไป 

โดยจากรายงานวิเคราะห์ของบริษัท Accenture ชี้ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมภาคการเงินโลกเปลี่ยนไปมากในรอบทศวรรษ เพราะมีธนาคารผู้เล่นดั้งเดิมออกจากตลาดไปถึง 1 ใน 3 ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ เช่น ผู้ให้บริการชำระเงิน บริษัทฟินเทค เดินหน้าเข้าตลาดเพิ่มมาราว 1 ใน 5 และที่น่าสังเกต คือ แม้ในช่วงโควิดระบาดรุนแรง แต่จำนวนของบริษัทฟินเทคที่กลายเป็น unicorn ได้ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

นอกจากนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บริการทางการเงินของบริษัท Accenture ในปี 2564 พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกที่จัดว่าเป็นกลุ่มที่สนใจติดตาม และพร้อมที่จะทดลองใช้บริการทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลและอุปกรณ์มือถือ ยังเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2561 เป็น 24% โดยเฉพาะในจีน ไทย อินโดนีเซียมีมากกว่า 50% ของผู้ใช้บริการ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจนี้ยังสร้างแรงดึงดูดกลุ่มผู้เล่นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (big tech) ระดับโลก เช่น Apple Google Amazon Uber ให้สนใจขยายขอบเขตมาให้บริการทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน ให้กู้ยืมทำประกัน หรือลงทุนทางการเงิน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่เข้าถึงพฤติกรรมเชิงลึกหลากหลาย ถนัดใช้ปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อมุ่งนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เฉพาะคนได้สะดวกในแพลตฟอร์มของตนเอง 

ขณะเดียวกัน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ความรุ่งเรื่องของ “สินทรัพย์ดิจิทัลและระบบการเงินไร้ตัวกลาง” เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่เติบโตแบบรวดเร็วและหวือหวา ประหนึ่ง “รถไฟเหาะตีลังกา” 

เทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ถือเป็น game changer ที่ทำให้ “คริปโทเคอร์เรนซี” เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งการใช้แลกเปลี่ยน โอน ลงทุน หรือซื้อขายเพื่อทำกำไร  ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปสู่ทำธุรกรรมการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และช่วยลด pain point ของบริการการชำระเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศ 

นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนา “สเตเบิ้ลคอยน์” หรือ คริปโทเคอร์เรนซีที่มีหนุนหลังด้วยสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อลดความผันผวนของราคาให้มีมูลค่าคงที่ใช้งานคล้ายเงินได้ดีขึ้น 

โดยในปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลที่ภาคเอกชนสร้างขึ้นมากว่า 15,000 สกุล ซื้อขายกันได้ในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเชื่อมโยงสู่ “ระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi)” ที่มีบริการทางการเงินและการลงทุนดิจิทัลหลากหลาย เข้าผ่านแอพพลิเคชั่นการเงินที่ไร้พรมแดนประเทศและไม่มีการกำกับดูแลจากภาครัฐ 

ขณะที่ภาคธุรกิจก็สนใจออก “โทเคนดิจิทัล” มาใช้ ทั้ง  “โทเคนเพื่อการลงทุน (investment token)” คล้ายการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ “โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token)” เพื่อให้ผู้ถือเอาไว้ใช้บริการหรือแลกสินค้าของบริษัทตามที่ตกลงไว้

“มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีเติบโตมากเกือบ 3 เท่าในช่วงโควิด ทำ all-time high เข้าใกล้ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564 เช่นเดียวกับ DeFi ที่เติบโตเกิน 10 เท่าภายในปี 2564 มูลค่าราคาสินทรัพย์รวมที่เก็บไว้ใน DeFi ทำ all-time high จาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2563 มาเป็นกว่า150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564”

และการเติบโตที่รวดเร็วนี้ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาแสดงความกังวล เพราะ “การทับซ้อน” ที่มากขึ้นเรื่อยๆของ “เงินในโลกจริง” และ “เงินในโลกเสมือน” ทำให้ความเชื่อมั่นของระบบเงินตรา และการใช้นโยบายการเงิน การคลังในการดูแลภาพรรวมของระบบการเงิน และเศรษฐกิจยากลำบากมากขึ้น 

การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency: CBDC) จึงเป็น “ทางเลือก”ที่ธนาคารกลางหันมาใช้เพื่อพัฒนาระบบการเงินให้ทัยสมัยและตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น  และ ล่าสุดธนาคารกลางในโลกสนใจศึกษาและพัฒนาการออกใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale) และรายย่อย (retail) มากถึง 86% ของธนาคารกลางทั่วโลก

โดยหวังที่จะเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลของประชาชนที่อาจยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารหรือผู้ให้บริการชำระเงินอื่น รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินสดดิจิทัลของธนาคารกลางที่ปลอดภัยมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม  retail CBDC ที่ออกใช้จริงแล้วนั้น ยังอยู่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่มาก ระบบเศรษฐกิจไม่ใหญ่ เช่นบาฮามาส (Sand Dollar) และอิสเทิร์นแคริบเบียน (DCash) ขณะที่หลายประเทศกำลังทำโครงการนำร่อง pilot project เช่น จีน เกาหลีใต้ สวีเดน  ส่วนธนาคารกลางที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะออกใช้ retail CBDC เช่น สหราชอาณาจักร ไทย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ

ทุกๆ วินาที “ข้อมูลการเงิน” ท่ามกลางกระแสดิจิทัลในระบบการเงินโลกยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าในส่วนของผู้บริโภค ธุรกิจผู้เล่นหน้าเดิมผู้เล่นหน้าใหม่ผู้เล่นไร้ตัวตนในภาคการเงิน ธนาคารกลาง รวมถึงภาครัฐ เราจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ “ติดปลายนวม” ข้างไหน จะวางแผนธุรกิจของเราไปอย่างไร ลองประยุกต์ใช้กับตัวเราเอง