เปิดสัญญา “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” เขียนชัด! เก็บค่าโดยสารตลอดสาย490บาท



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รฟท.ได้เปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญของสัญญาร่วมทุน (PPP) และวิธีการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบนเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยสัญญา PPP ระหว่างรัฐและเอกชน ได้กำหนดให้ รฟท. มีหน้าที่ให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ และส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท, และสิทธิการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการ รฟท.ของโครงการ และสิทธิการดำเนินกิจการทางพาณิชย์แก่เอกชนคู่สัญญา

นอกจากนี้ รฟท.ยังมีหน้าที่จัดหาและชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ แก่กลุ่ม CP รวมถึงจัดหาและส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ ให้แก่กลุ่ม CP โดยในส่วนของสิทธิของกลุ่ม CPนั้นจะ มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรฟท. ของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

ส่วน รฟท.จะ มีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากเอกชนคู่สัญญาดังนี้1. ส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing) ในระหว่างการให้บริการเดินรถในส่วนของรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP 2. ค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท
3. ค่าเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระเป็นรายปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

ด้านกลุ่ม CP จะมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ คือ รายได้จากการดำเนินโครงการฯ ในส่วนรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ภายหลังแบ่งส่วนแบ่งรายได้แก่การรถไฟฯ แล้ว

ขณะเดียวกันกลุ่ม CP มีสิทธิได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เป็นจำนวนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะชำระเป็นระยะเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กันนับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ขณะเดียวกันก็มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้านระยะเวลาโครงการฯ เท่ากับระยะเวลาการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงซึ่งอยู่ที่ 50 ปี โดยทรัพย์สินในโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง, แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฯ ของโครงการ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง

สำหรับ รฟท.นั้น จะต้องส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-สนามบินดอนเมือง ให้แก่กลุ่ม CP ภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา อย่างไรก็ตามหากส่งมอบไม่ได้ โดยไม่ใช่ความผิดของเอกชน สิทธิของคู่สัญญาจะเป็นไปตามกฎหมายไทย โดยกรณีที่ยังไม่มีการเลิกสัญญา PPP จะไม่มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นตัวเงิน แต่จะชดเชย โดยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้างออกไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเท่านั้น

ทั้งนี้ หากกลุ่ม CP ไม่สามารถออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือภายในระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท.เอกชนต้องจ่ายค่าปรับให้การรถไฟฯ เป็นจำนวนเงิน 9 ล้านบาทต่อวัน แต่หากออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ไม่เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ก็ต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 2.28 ล้านบาทแก่การรถไฟฯ หรือรวมแล้วเป็นเงิน 11.28 ล้านบาทต่อวัน

ส่วนกรณีที่ความล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ รฟท. และค่าเสียหายมีจำนวนมากกว่าค่าปรับ เอกชนคู่สัญญาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่การรถไฟฯ เท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามสัญญาเป็นไปดังนี้ คือ การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ จะต้องมีอัตราไม่เกิน 45 บาทต่อเที่ยวเท่ากับปัจจุบัน แต่เมื่อมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอีก 2 สถานี ได้แก่ สถานีดอนบางซื่อและดอนเมือง ก็สามารถเก็บค่าโดยสารได้สูงสุดไม่เกิน 97 บาทต่อเที่ยว

ส่วน การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางต้องอยู่ในอัตราไม่เกิน 490 บาทต่อเที่ยว
ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าโดยสารจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งประกาศโดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตามระยะเวลาและแนวทางการคำนวณที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP