เปิดศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 64 “สมพงษ์” ชี้รัฐบาลยังใช้งบแบบเดิมๆ ไร้ประสิทธิภาพ เตือนอย่างเอางบไปใช้ทำนโยบาย เพื่อหาเสียง

  • ลั่นงบที่เสนอไม่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19
  • แนะจัดทำงบฯครั้งนี้ ต้องรองรับคนตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้
  • เผยรัฐบาลยังขาดการมองไปที่ภาพใหญ่ คือ อนาคตไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง ..งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ..2564 ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง สำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการพิจารณางบประมาณฯ ปี 64 ที่สภาฯ กำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ป้องกันมิให้ประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บนความเสียหายของประเทศและประชาชน

นายสมพงษ์ กล่าวว่า วิกฤตการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็กแต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจกลับติดอันดับต้นๆ ของโลก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล อันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น ความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดการณ์ว่า จีดีพี ปี 2563 จะหดตัวติดลบ 8.1% ลงลึกกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือกับโควิด-19

สำหรับเรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้มาตรการแบบได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาด มีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก ดังนั้นหากไม่นำกลับไปแก้ไข ก็ไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้

คำถามที่สำคัญ คือ แล้วจะจัดทำงบประมาณอย่างไร ที่รัฐบาลจัดทำมา เป็นคำตอบที่ใช่หรือไม่ โจทย์หลักสำคัญของรัฐบาลที่ต้องท่องคาถาไว้ สำหรับการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ คือ ต้องรองรับคนตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้ต้องสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง ระยะยาวได้ ต้องทำได้เลย ทำได้เร็ว” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณสำหรับภาวะวิกฤติ หลักคิดต้องแตกต่างจากภาวะปกติ เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะลามถึงสถาบันการเงินแค่ไหน และจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่  ฉะนั้นโจทย์ 3 ข้อนี้รัฐบาลต้องท่องให้แม่น และทำให้ได้ แต่งบประมาณฯ ปี 2564 ฉบับนี้ กลับไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ  ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤติ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น 

งบประมาณ ปี 2564 ยังถูกจัดสรรแบบโบราณ คร่ำครึ มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึง การจัดอบรมต่างๆเสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมา ตามระบบรัฐราชการ รัฐบาลขาดการมองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ยังไง สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ ยังเตือนด้วยว่า งบประมาณฯ ปี 2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้าเพื่อตัวเอง ขอย้ำว่า เราไม่อยากเห็นนโยบายชิมช็อปใช้ แจกเงินเที่ยว รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นมาตรการเพื่อตนและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต