เชื่อหรือไม่! ปี 64 ส่งออกจะกลับมาเป็นพระเอก

หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทุกสำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจทั้งของไทยและของนอก ต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดิม โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะโตประมาณ 2-2.5% 

ขณะที่ หากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการควบคุม การขยายเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรืออาจจะกลับไปติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะหลายความถึงเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “ภาวะถดถอย”

เพราะถึงแม้จะคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มบรรเทาเบาบางลง ทั้งจากการควบคุมการแพร่ระบาดที่คาดว่าจะทำได้สำเร็จ รวมทั้ง การใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ “บาดแผล”ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างหนัก

โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค ที่เชื่อว่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปีนี้ หรืออาจจะทำได้แค่ประคองตัว

แล้วตัวไหนที่จะเป็น “พระเอก” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 64 นี้

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกบทความรายงานวิจัย เรื่อง “ลุ้นระทึกเศรษฐกิจไทย” โดยยืนยันว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจที่มีอยู่ในขณะนี้

เศรษฐกิจไทยจะไม่แย่ลงจากปีก่อนหน้าอย่างแน่นอน

โดยไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นไตรมาสสุดท้ายแล้ว ที่เราจะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยหลักที่ ดร.ดอน คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายเป็นบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้มาจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่หดตัวแรง แต่ปัจจัยรองที่สำคัญที่ผมอยากเน้น คือ “พัฒนาการของเศรษฐกิจโลก”

โดยล่าสุด นักวิเคราะห์ต่างชาติแทบทุกสำนักฟันธงว่า ปีสองปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของเศรษฐกิจโลก บางสำนักไปไกลถึงขั้นที่ว่าเราจะเห็นเศรษฐกิจโลกกลับมาเติบโตแบบ Goldilocks หรือเติบโตอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพ ไม่ร้อนแรงเกินไปหรือต่ำเกินไป จากอานิสงค์ของมาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ และการทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรโลก

ซึ่งเราได้เห็นตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือน ธ.ค.ของหลายประเทศในภูมิภาค และของไทยที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งแถลงไปเป็นเครื่องชี้ที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเม.ย. ทั้งๆที่เดือนธ.ค.เป็นเดือนที่เงินบาทกลับมาแข็งค่ามาก และเริ่มเห็นการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศแล้ว สะท้อนภาวะการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้าแบบหยาบๆจะเห็นว่า ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี MSCI Asia Pacific กลับมาสูงกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2562 มาสักระยะหนึ่งแล้ว เร็วกว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเองที่คาดกันว่าจะกลับไปเท่าระดับ ณ สิ้นปี 2562 ในครึ่งหลังของปีนี้

ผมลองเอาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมาพล็อตไปด้วยกัน ที่น่าสนใจ คือ เส้นของเราเริ่มฉีกออกจากอีกสองเส้นในช่วงเดือนกรกฎาคม จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกลับเส้นอื่นตั้งแต่เดือนพ.ย. หลังมีข่าวการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ในช่วงต้นเดือน

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยใช้เวลานานในการฟื้นตัวกว่าประเทศอื่น หลักๆแล้วมาจากการที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของเศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรงจากโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยสูงเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 เหลือไม่ถึง 7 ล้านคนในปีที่แล้ว (เกือบทั้งหมดเป็นตัวเลขในไตรมาส 1)

และในปีนี้หลายสำนักคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 5 ล้านคน (หลักๆในไตรมาส 4) เนื่องจากมองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในจำนวนมากยังไม่สามารถทำได้ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนในประเทศในระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ดีจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่หดตัวลงจากปีก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง เพียงแต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะยังอยู่ในระดับต่ำ

หรือคิดแบบง่ายๆ ก็คือ เมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ คนทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คำสั่งซื้อสินค้าของบ้านเราก็จะสูงขึ้นตาม  การส่งออกจึงกลับมาเป็น “พระเอก”ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ส่วนปีหน้า 2565 นั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจในปีที่แล้วและปีนี้จะกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าหลังเราได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ 

โดยสมมติเป็นตัวเลขคิดง่าๆ ว่าในปีหน้า เราสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 20 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของตัวเลขเกือบ 40 ล้านคนในอดีต เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปีนี้ 15 ล้านคน 

ถ้าเราเอาตัวเลขการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในอดีตที่ประมาณ 50,000 บาทต่อคนมาคูณกับตัวเลข 15 ล้านคน จะได้เป็นรายได้ 7.5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 5 %ของจีดีพี และถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาได้ถึง 30 ล้านคน ซึ่งก็ยังห่างไกลจากช่วงก่อนโควิด รายได้จากต่างประเทศส่วนเพิ่มที่จะเติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจะสูงถึง 1.25 ล้านล้านบาท หรือประมาณะ 8 % ของจีดีพี  

เมื่อนำเม็ดเงินมหาศาลนี้ไปประกบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังดีต่อเนื่อง มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวแบบพุ่งทะยาน  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีก 2 ข้อที่เราต้องลุ้น และพยายามสู้กันต่อไป ข้อแรก เศรษฐกิจโลกยังไปได้ดีในปีหน้า และข้อที่สอง เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมจะไปต่อ ไม่เสียหายเกินไปจากผลกระทบของโควิด-19ในช่วงหนึ่งปี 64 นี้ ซึ่งต้องอาศัยทั้งภาครัฐ และเอกชนช่วยกันประคับประคอง

เราจะไปต่ออย่างไร “ส่งออก” พระเอกเจ้าเก่าหน้าเดิมของเราจะเข้ามาช่วยชีวิตเศรษฐกิจไทยหรือไม่ คงต้องลุ้นต่อไปอีก 11 เดือนข้างหน้า

#Thejournalistclub #JNC #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ