“เฉลิมชัย”ยัน! เทขายยางสต๊อกรัฐ 104,000 ตัน โปร่งใสตรวจสอบได้

วันที่ 3 กันยายน 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภาเรื่องยางพาราและการระบายยางว่า เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยให้ระบายยางในสตอกนี้ให้หมดโดยเร็ว ในจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนัก จากนั้นนำเข้า ครม. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 และต่อมา บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีมติให้จำหน่ายได้ ซึ่งในฐานะกำกับดูแล กยท. ให้นโยบายดังนี้

ให้ดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบาย เพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด
เกษตรกรต้องได้รับประโยชน์
ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน
ต้องทำโดยสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ยางพาราอยู่ในสต็อก 104,000 ตัน ซึ่งต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่าประกันภัย กยท. ทำสัญญาเช่าตั้งแต่ปี 2555 ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งมีการซื้อยางเข้าสู่สตอก เพื่อให้ยางในตลาดมีปริมาณน้อยลง เพราะขณะนั้นราคายางตกมาก จากกิโลกรัมละ 180 บาท เหลือ 90 บาท โดยรับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตัน ในราคาเฉลี่ย 98.96 บาท/กิโลกรัม งบประมาณ 22,782 ล้านบาท และในปี 2557 มีโครงการมูลพันธ์กันชนฯ

ต่อมามีการระบายยาง โดยครั้งแรกในปี 2557 มีการลงนามสัญญาซื้อ-ขาย 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้ว ราคายางตกลงอย่างมาก บริษัทรับยางเพียง 37,602 ตัน ส่วนการประมูลครั้งที่ 2 ปี 2559-2560 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพ หากพอใจโกดังไหนก็ให้ประมูลโกดังนั้น พ่อค้าเลือกยางดีๆ ไปหมด จึงเหลือยางในสตอกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ  

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ระยะเวลา 9 ปีที่เก็บยางในสต็อก เป็นฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกร ตนมาช่วยคลายล็อกให้ จะได้ไม่ถูกยางในสต็อกเป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่มกดราคา อ้างว่ายางไม่ขาด ทั้งที่ยางในสตอกไม่มีสภาพที่พร้อมใช้แล้ว ยางแผ่นดิบปกติเก็บ 6 เดือน สีก็เปลี่ยน ระหว่างปี 2555-2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้ามาในสต็อก ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราใช้เงินทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และปี 2559-2564 ค่าใช้จ่ายรวมกัน 925 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายการยางแห่งประเทศไทย จากเงินกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งใช้ดูแลเกษตรกร จึงเป็นฝันร้ายที่ 2 ซึ่งซ้ำเติมเกษตรกรชาวสวนยาง

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ราคาพืชผลการเกษตร 5 ชนิด โดยยางพารา เป็น 1 ในสินค้า 5 ชนิดในโครงการ ทำให้เกษตรกรมีความสุขและยิ้มได้ทั้งประเทศ ดังนั้น จึงมั่นใจว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำข้อมูลที่ชี้แจงไปประกอบการพิจารณาลงมติในวันพรุ่งนี้