เงินเฟ้อไทยปี 66 โตแค่ 1.23% ต่ำกว่าเป้าหมาย

เงินเฟ้อไทยปี 66 โตแค่ 1.23% ต่ำกว่าเป้าหมาย เงินเฟ้อที่ติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน ยืนยันว่าไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่มีสาเหตุหลักมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ

  • ส่วนเดือนธ.ค. ติดลบ 3 เดือนติดต่ำสุดรอบ 34 เดือน
  • ฉุดรายจ่ายครัวเรือนลด 84 บาทมาอยู่ที่ 1.79 บาท
  • เหตุรัฐลดค่าครองชีพด้านพลังงาน-ราคาอาหารสดลด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค.66 ดัชนีเท่ากับ 106.96 เทียบกับดัชนีเดือนพ.ย.66 ลดลง 0.46% และเทียบกับเดือน ธ.ค.65 ลดลง 0.83% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับจากเดือนก.พ.64 จากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และผักสดที่ราคาลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนรวมเงินเฟ้อทั้งปี 66 เพิ่มขึ้น 1.23% อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ขยายตัว 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35%

ทั้งนี้ จากราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหารสดลดลง ส่งผลให้เดือนธ.ค.66 ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายลดลง 84 บาทมาอยู่ที่ 17,984 บาท จากเดือนพ.ย.66 ที่อยู่ 18,068 บาท ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค.66 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.66 และเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.65 รวม 12 เดือนเพิ่มขึ้น 1.27%

“เงินเฟ้อที่ติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน ยืนยันว่าไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่มีสาเหตุหลักมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ทั้งค่าน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า และอีกสาเหตุ คือ การลดลงของราคาสินค้าและบริการบางกลุ่ม ไม่ใช่ส่วนใหญ่ที่ราคาลดลง จึงยังไม่อยู่ในจุดที่เป็นภาวะเงินฝืด”

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อถึงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 67 ว่า สนค.คาดจะอยู่ระหว่างติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7% โดยมีสมมตฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 34-36 บาทต่อเหรียญฯ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค.67 คาดว่า ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลดลงตาม รวมถึงผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้น แต่คาดจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ