เงินเฟ้อเดือนก.ย.63ดิ่งต่อเนื่องติดลบ 0.70%



  • หลังราคาพลังงานลดลงหนักตามกลไกตลาด
  • แม้ราคาอาหารสดเพิ่มแต่ไม่มีผลดึงให้สูงขึ้นได้
  • ทั้งปี 63 คาดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ยันถือว่ามีเสถียรภาพ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัขนีราคาผู้บริโภค (เงินฟ้อทั่วไป) เดือนก.ย.63 ว่า ดัชนีอยู่ที่ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.63 และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.62 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 63 ลดลง 0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสด และพลังงาน ที่มีราคาผันผวน ออกจากการคำนวณ พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบเดือนส.ค.63 และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเดือนก.ย.62 ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.32%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า เดือนก.ย.63 ราคาสินค้าที่สูงขึ้นมี 128 รายการ เทียบกับเดือนส.ค.63 และมี 224 รายการเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.62 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่ราคาลดลงมี 111 รายการเมื่อเทียบเดือนส.ค.63 และ 130 รายการเมื่อเทียบเดือนก.ย.62 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาไม่เปลี่ยนเปลงมี 183 รายการเทียบเดือนส.ค.63 และ 68 รายการเมื่อเทียบเดือนก.ย.62

“สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลง 0.70% มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามกลไกตลาด แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสินค้าอื่นๆ เคลื่อนไหวปกติ อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง แต่อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงรายได้เกษตรกรที่เร่งขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ เป็นต้น” 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี้ว่า คาดว่าจะยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยติดลบที่ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลง จากความต้องการใช้ทั่วโลกลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่า อัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะคาดว่า ความต้องการอุปโภคบริโภคในประเทศที่แนวโน้มสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสดยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิต และความต้องการของตลาด โดยสนค.ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 63 ไว้ที่ ลด 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%