เงินเฟ้อมี.ค.64 หดตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน



  • เหตุราคาน้ำมันในประเทศพุ่งตาดตลาดโลก 
  • อานิสงส์มาตรการลดค่าน้ำประปา-ไฟฟ้าของรัฐ 
  • ยันแม้ราคาน้ำมันพุ่งต่อแต่ทั้งปีโตตามเป้า 0.7-1.7%  

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนมี.ค.64 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ  99.11 ลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.63 หดตัวน้อยสุดในรอบ 13 เดือน แต่เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.64 ขณะที่เฉลี่ย 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 64 ลดลง 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.64 กลับมาติดลบน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือนมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยสูงขึ้น 1.35% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยราคาขายปลีกในประเทศ ปรับขึ้น 5 ครั้ง และปรับลง 5 ครั้ง แต่ราคาที่ปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลง

ขณะที่กลุ่มอาหารสด ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก.พ.64 โดยลดลง 1.06% ตามการลดลงของราคาข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด รวมทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ปรับลดลงตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค.64 สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสินค้า การจัดโปรโมชั่น และอุปสงค์ที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นายวิชานัน กล่าวต่อว่า เงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนมี.ค.64 นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนก.พ.64 สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยด้านอุปสงค์ สะท้อนจากรายได้เกษตรกร ที่ขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ที่ดีขึ้น และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง 

ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไป 

ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อปี 64 ยังอยู่ในกรอบที่สนค.คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% แม้ได้ปรับสมมติฐานต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5% จากเดิมในเดือนธ.ค.63 คาดโต 3.5-4.5% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จากเดิมคาด 40-50 เหรียญฯ/บาร์เรล ค่าเงินบาททั้งปีอยู่ที่ 29.0-31.0 บาท/เหรียญฯ จากเดิมคาด 30.0-32.0 บาท/เหรียญฯ  

“จากนี้ไป จะเห็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวผลักดันให้เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงมีน้ำหนักมากในการคำนวณเงินเฟ้อ ส่วนราคาอาหารสด จะปรับขึ้น ลง ตามฤดูกาล รวมถึงปริมาณผลผลิต และความต้องการบริโภค ซึ่งความต้องการในประเทศเริ่มกลับมาแล้ว จากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ และคาดว่า รัฐจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ ที่อาจเพิ่มขึ้นได้ แต่น่าจะยังอยู่ในกรอบ 0.7-1.7%”