เงินเฟ้อปี 63 ติดลบ 0.85% เซ่นพิษโควิด-19



  • หลังประชาชนชะลอจับจ่ายใช้สอย-ท่องเที่ยวหด
  • แม้ราคาน้ำมันเพิ่มแต่ยังไม่มีแรงดึงให้สูงขึ้นได้
  • ปี 64 คาดโต 1.2% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-การค้า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ว่า เดือนธ.ค.63 ดัชนีอยู่ที่ 102.34 เพิ่มขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.63 แต่ลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.62 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และหดตัวน้อยสุดในรอบ 10 เดือนนับจากมี.ค.63 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กำลังซื้อของเกษตรกรดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงยังได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกันที่มีส่วนกระตุ้นการบริโภค แต่กลุ่มพลังงานยังเป็นตัวฉุด แม้ราคาจะลดลงไม่มาก แต่ยังลดลงอยู่  

ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 63 ลดลง 0.85% เมื่อเทียบกับปี 62 ซึ่งยังอยู่ในคาดการณ์ที่ตั้งไว้ที่ติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีติดลบ มาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความต้องการบริโภคสินค้าชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง ขณะเดียวกัน ได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับลดราคาสินค้าตลอดทั้งปี การดูแลค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น 

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธ.ค.63 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.63 เพิ่มขึ้น 0.05% และเทียบกับธ.ค.62 เพิ่มขึ้น 0.19% เฉลี่ยทั้งปี 63 เพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับปี 62 แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้ายังมีการเคลื่อนไหว และราคาปรับตัวสูงขึ้น เพราะได้หักสินค้าที่มีความผันผวน ทั้งกลุ่มอาหารและพลังงานออกจากการคำนวณ 

“เงินเฟ้อทั้งปี 63 ติดลบต่อเนื่อง 10 เดือน เข้าข่ายเป็นเงินฝืดในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเงินฝืด เพราะในเชิงเศรษฐกิจ สินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงขึ้น แต่ถูกฉุดโดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี และยังได้ผลดีจากมาตรการรัฐ ที่ดูแลทั้งราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นราคา” 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 64 ว่า คาดจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่จะทำให้การบริโภคชะลอตัว แต่ราคาสินค้ายังเป็นปกติ ไม่มีการกักตุนสินค้า อาจจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งบ้างในบางพื้นที่ และราคาน้ำมันคาดว่าจะยังทรงตัว โดยประเมินเงินเฟ้อไตรมาสแรกปี 64 จะติดลบไม่เกิน 0.5% แต่ไตรมาส 2 ,3 และ 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวดีขึ้น การมีวัคซีนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน  

“จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวว่า ทำให้คาดว่า ปี 64 เงินเฟ้อจะขยายตัวเป็นบวก 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% โดยมีสมมุติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ”